Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการปริมาณเงินของ สปป ลาว โดยทำการทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพระยะยาว Cointegration Test ด้วยวิธีของ Johansen (1995) ทดสอบการปรับตัวระยะสั้นกลับเข้าสู่จุดดุลยภาพในระยะยาวด้วยวิธี Vector Error Correction Model (VECM) และทำการทดสอบเสถียรภาพของแบบจำลองความต้องการปริมาณเงินของ สปป ลาว ด้วยวิธีผลรวมสะสม The Cumulative Sum (CUSUM) และ The Cumulative Sum of Squares (CUSUMSQ) การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิแบบอนุกรมเวลา รายไตรมาสตั้งแต่ 1991Q1 ถึง 2021Q4 รวม 124 ไตรมาส โดยใช้ข้อมูลจากธนาคารแห่ง สปป ลาว
ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรในแบบจำลองมีความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพระยะยาวมากกว่า 1 รูปแบบทั้งสองแบบจำลอง โดยที่แบบจำลองความต้องการปริมาณเงิน M1 พบว่า รายได้ที่แท้จริง อัตราเงินเฟ้อ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความต้องการปริมาณเงิน M1 ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนกีบต่อดอลลาร์ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับปริมาณเงิน M1 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ และตัวแปร QR Code แทนการชำระเงินผ่านระบบธนาคาร ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับความต้องการปริมาณเงิน M1 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
แบบจำลองความต้องการปริมาณเงิน M2 พบว่า รายได้ที่แท้จริง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้น 1 ปีสกุลเงินกีบ และตัวแปร QR Code มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความต้องการปริมาณเงิน M2 ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนกีบต่อดอลลาร์ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับความต้องการปริมาณเงิน M2 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
ผลการทดสอบความเสถียรของแบบจำลองความต้องการปริมาณเงินของ สปป ลาว พบว่ามีความเสถียรในระยะยาว ซึ่งเป็นการสนับสนุนและยืนยันว่า สปป ลาวนั้นมีความเหมาะสมสำหรับกรอบนโยบายการเงินที่กำหนดเป้าหมายปริมาณเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และการกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินของธนาคารกลางนั้นอาจจะสูงเกินความต้องการเงินที่แท้จริงของ สปป ลาว ซึ่งอาจนำไปสู่เงินเฟ้อที่สูงเกินที่ควรจะเป็น ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินให้มีความเหมาะสมกับความต้องการเงินที่แท้จริงของ สปป ลาว จะทำให้นโยบายการเงินของ สปป ลาว นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งข้อจำกัดในการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้พิจารณาประเด็นเรื่องของ Currency Substitute ใน สปป ลาว ซึ่งมันอาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้การกำหนดเป้าหมายปริมาณเงินของธนาคารกลางสูงเกินไป