Abstract:
ที่จอดรถเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคารชุดพักอาศัยที่ต้องจัดให้มีจำนวนเพียงพอตามเกณฑ์ข้อบังคับที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) พบว่า มีการนำที่จอดรถอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโครงการอาคารชุดแพร่หลายมากขึ้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด วิธีการเลือกรูปแบบ ลักษณะทางกายภาพ การใช้งาน การบริหารจัดการ และข้อดี ข้อจำกัด ของการนำระบบที่จอดรถอัตโนมัติมาใช้ในโครงการอาคารชุด โดยมีกรณีศึกษาเป็นอาคารชุดในเขตวัฒนา 4 โครงการ ด้วยวิธีการสำรวจ การสังเกต และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบที่จอดรถอัตโนมัติมาใช้
จากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการโครงการทั้ง 4 โครงการมีแนวคิดในการนำระบบที่จอดรถอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อประหยัดพื้นที่จอดรถ จัดการพื้นที่ขายให้มีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดเวลาและพลังงานในการวนหาที่จอดรถ โดยให้ผู้ออกแบบและผู้จัดหาและติดตั้งเป็นผู้นำเสนอข้อมูลและให้คำแนะนำในการเลือกใช้ระบบที่จอดรถอัตโนมัติ ให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่และรูปแบบอาคารในโครงการนั้น ๆ ผู้ประกอบการแต่ละโครงการเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบของระบบที่จอดรถอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงต้นทุนของระบบเป็นหลัก แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ (1) แบบมีถาดรองรับ ซึ่งเป็นระบบที่ต้องจอดรถเทียบบนถาดรองรับรถที่อยู่ในลิฟต์รถ ได้แก่ โครงการเซอเลส อโศก ที่ใช้ระบบถาดรถเลื่อน และโครงการเซอร์เคิล สุขุมวิท 31 ที่ใช้ระบบหอสูง และ(2) แบบไม่มีถาดรองรับ เป็นระบบที่ต้องจอดรถเทียบภายในหรือภายนอกช่องลิฟต์ โดยมีหุ่นยนต์รับส่งรถนำรถไปจอดยังตำแหน่งที่ว่างและใกล้ที่สุด ได้แก่ โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม อ่อนนุชและมิวนีค สุขุมวิท 23 ใช้ระบบหุ่นยนต์ โดยระบบแบบไม่มีถาดรองรับมีระยะเวลาเฉลี่ยในการนำรถเข้าจอดอยู่ที่ 1.55 นาที ใช้เวลาน้อยว่าระบบแบบมีถาดรับรถซึ่งมีระยะเวลาเฉลี่ย 2.21 นาที ในการบริหารจัดการทุกโครงการมีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันประจำทุกเดือนเหมือนกันตามระยะการประกัน แต่โครงการไนท์บริดจ์ไพร์ม อ่อนนุชมีการจัดจ้างช่างดูแลระบบประจำโครงการเพิ่มเติม จากการสำรวจ ทุกโครงการพบปัญหาและอุปสรรคที่คล้ายกัน คือ ความลำบากในการเข้าจอดเทียบทั้งภายในและภายนอกช่องลิฟต์รถ เนื่องจากระยะการเลี้ยวรถและพื้นที่รอด้านหน้าลิฟต์ไม่เพียงพอ ข้อดีของระบบที่เหมือนกันคือ ช่วยประหยัดการใช้พื้นที่ ที่แตกต่างกันคือ ระบบที่ใช้ถาดรับรถมีการใช้งานและการซ่อมแซมง่ายไม่ซับซ้อน และมีราคาที่จอดรถต่อช่องจอดและค่าซ่อมบำรุงที่ค่อนข้างถูก ส่วนระบบแบบไม่มีถาดรองรับเป็นระบบที่ทันสมัย การทำงานที่ต่อเนื่องและรวดเร็วกว่า ส่วนข้อจำกัดที่แตกต่าง คือ ระบบที่มีถาดรองรับการทำงานของระบบมีเสียงดังรบกวน ส่วนระบบแบบไม่มีถาดรองรับมีราคาที่จอดรถต่อช่องจอดและค่าซ่อมบำรุงที่ค่อนข้างแพงกว่า และมีวิธีการซ่อมแซมแก้ไขระบบที่ซับซ้อนกว่า
ผลจากการวิเคราะห์พบว่า เนื่องจากที่จอดรถอัตโนมัติไม่ต้องมีทางลาดและมีทางวิ่งรถน้อย ที่จอดรถอัตโนมัติจึงมีการใช้พื้นที่น้อยกว่าที่จอดรถแบบปกติประมาณ 2 เท่า ทำให้ประหยัดพื้นที่จอดรถได้มากถึง 50% และสามารถเพิ่มจำนวนที่จอดรถได้มากเป็น 2 เท่าของที่จอดรถแบบปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้ประกอบการในการนำที่จอดรถอัตโนมัติมาใช้
จากผลการศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะว่า ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้งานให้มากขึ้น โดยควรจัดวางตำแหน่งลิฟต์รถแต่ละตัวให้มีระยะห่างที่เหมาะสมและมีพื้นที่วงเลี้ยวที่สัมพันธ์กับระยะวงเลี้ยวรถ และควรจัดพื้นที่รอเข้าจอดรถหน้าลิฟต์ให้เพียงพอ มีระบบป้องกันประตูลิฟต์ปิดเองและมีระบบตรวจสอบการเข้าเกียร์จอดรถหรือมีระบบยึดล้อรถเพื่อป้องกันรถไหลเลื่อนตกจากลิฟต์ยกรถและถาดรับรถ รวมทั้งมีการบริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาระบบที่จอดรถอัตโนมัติอย่างสม่ำเสมอให้เป็นไปตามสัญญาของประกันที่ทำไว้กับบริษัทผู้จัดหาและติดตั้งระบบอย่างเคร่งครัด