Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในสังคมยุคดิจิทัล” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในยุคดิจิทัล (2) ศึกษาประเภทของความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในยุคดิจิทัล (3) ศึกษาผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในยุคดิจิทัล และ (4) เสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในยุคดิจิทัล การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญซึ่งเป็นคู่ครองจำนวน 13 คู่ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์สรุปอุปนัย (analytic induction) ผลการศึกษา พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตคู่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมแบบเก่าทำให้การทำงานและชีวิตส่วนตัวเกิดความผูกพันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เทคโนโลยีอาจสร้างความห่างเหินต่อชีวิตคู่ ซึ่งส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างคู่ครองและปัญหาอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างคู่ครองประกอบด้วยปัจจัยเรียงตามลำดับความสำคัญ 12 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัจจัยด้านความแตกต่างในมุมมองหรือทัศนคติ ปัจจัยด้านการสื่อสาร ปัจจัยด้านการนอกใจ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตร ปัจจัยด้านพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจัยด้านครอบครัวและเครือญาติของคู่ครอง ปัจจัยด้านเวลาและการจัดการชีวิตประจำวัน ปัจจัยความแตกต่างด้านอายุ ปัจจัยด้านความมีระเบียบและวินัย และปัจจัยด้านการแต่งกาย โดยสามารถจำแนกประเภทของความขัดแย้งระหว่างคู่ครองได้ 5 ประเภท ได้แก่ ความขัดแย้งด้านพฤติกรรมและทัศนคติ ความขัดแย้งทางด้านการเงิน ความขัดแย้งทางด้านเพศ ความขัดแย้งด้านการเลี้ยงดูบุตร และความขัดแย้งทางด้านการแบ่งงานกันทำ นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังพบว่า ความขัดแย้งระหว่างคู่ครองส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผลกระทบทางด้านจิตใจ ผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัว ผลกระทบทางด้านร่างกาย ผลกระทบต่อลูก ผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ผลกระทบด้านสังคม และผลกระทบด้านความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่ครองในเชิงสร้างสรรค์ประกอบด้วย การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การเรียนรู้ ปรับตัวและยอมรับกัน การจัดการทางอารมณ์ การสร้างบรรยากาศที่ดี การสร้างฐานะทางการเงิน การมีส่วนร่วมในงานบ้าน และการมีกิจกรรมร่วมกันซึ่งจะทำให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่ครองควรมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการสื่อสารและจัดการความขัดแย้งระหว่างค่าครอง มาช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่ดำเนินการโดยภาครัฐ