Abstract:
เนื่องจากความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เส้นทางสายไหมดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น (Digital Silk Road; DSR) โดย DSR เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative; BRI) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระดับทวีปของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความสำคัญที่มากขึ้นนี้นำไปสู่การศึกษาถึงเป้าหมายของ DSR และวิธีการของจีนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว งานศึกษานี้จึงมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การศึกษา DSR มีความจำเป็นโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอันเป็นรากฐานของการคงอยู่ของกิจกรรมทางดิจิทัลโดยรวม และสามารถเป็นตัวแปรต้นในการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในการเมืองระหว่างประเทศ ข้อค้นพบในงานศึกษานำไปสู่คำตอบของเป้าหมายของ DSR คือการตอบสนองต่อปัจจัยภายในว่าด้วยความท้าทายทางเศรษฐกิจและความท้าทายทางข้อมูล รวมถึงปัจจัยภายนอก คือ การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองปัจจัยกลายเป็นแรงผลักให้จีนแสวงหาอธิปไตยทางดิจิทัล เพื่อให้ DSR ประสบความสำเร็จจีนได้ดำเนินการลงทุนในต่างประเทศเกี่ยวกับดิจิทัลทั้งทางตรงและอ้อม โดยวิธีการทางเศรษฐกิจของจีนสามารถศึกษาผ่านเครื่องมือของเสรีนิยมใหม่อย่าง โซน (Zone) การสร้างนิเวศเศรษฐกิจ (business ecosystem) นอกจากนี้ยังมีการก่อร่างของโครงร่างระบบระหว่างประเทศของจีนผ่านการนำเสนอระเบียบดิจิทัลที่มาพร้อมกับ DSR