Abstract:
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ประเทศไทยเริ่มมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการติดตั้งใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะแผงในกลุ่มผลึกซิลิกอน ในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาจากของเสียแผงในปริมาณมาก ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการคาดการณ์ปริมาณของเสียแผง และประเมินแนวทางการจัดการของเสียแผงชนิดผลึกซิลิกอน ผลการดำเนินงานพบว่าปริมาณของเสียแผงสะสมที่จะเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2582 จากทั้ง 2 มุมมอง (1. แผงหมดอายุการใช้งานเมื่อครบ 20 ปี 2. แผงที่ชำรุดรวมกับแผงหมดอายุการใช้งานเมื่อครบ 20 ปี) มีปริมาณอยู่ในช่วง 237,394 - 322,856 ตัน ซึ่งเป็นกระจกมากเกินครึ่งของปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นสะสมอยู่ในช่วง 163,921 – 222,932 ตัน สำหรับวัสดุพอลิเมอร์ (วัสดุห่อหุ้ม แผ่นปิดด้านหลัง และซิลิโคน) มีปริมาณรวมกันอยู่ในช่วง 31,384 – 42,682 ตัน และจากการประเมินแนวทางการจัดการทั้ง 3 (1.แนวทางที่ใช้ในปัจจุบัน 2.แนวทางการบดหยาบ 3.แนวทางการอบแยก) พบว่าทุกแนวทางมีรายได้มากกว่าต้นทุนการจัดการเบื้องต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และในแนวทางการอบแยกที่มีการใช้ความร้อนจะทำให้เกิดการสลายตัวของวัสดุพอลิเมอร์ ในรูปค่าความร้อนของเชื้อเพลิง โดยวัสดุห่อหุ้มมีค่าความร้อนมากที่สุดอยู่ในช่วง 38.46 – 40.54 เมกะจูลต่อกิโลกรัม (มีค่าใกล้เคียงกับไบโอดีเซล 40.2 เมกะจูลต่อกิโลกรัม) มีโอกาสที่จะนำเอาพลังงานที่เกิดขึ้นกลับคืนมาใช้ในกระบวนการ เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง และจากการนำกลับของวัสดุในปริมาณที่มากที่สุด จะช่วยชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ถือเป็นเครดิตที่เกิดขึ้นจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม