Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษากัมมันตภาพในการนำกลับทองจากน้ำเสียผลิตแผงวงจรพิมพ์โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงคู่ควบทังสเตนไตรออกไซด์ ตัวแปรที่ศึกษา คือ ปริมาณของซิงค์ออกไซด์ (2.5 – 25 โดยน้ำหนัก) พีเอชเริ่มต้นของน้ำเสีย (ประมาณ 7.02 – 11.2) ชนิดของสารล่าโฮล (เมทานอล เอทานอล และไอโซโพรพานอล) ปริมาณสารล่าโฮล (ร้อยละ 10 – 30 โดยโมล) และปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยา (1.0 – 2.5 กรัมต่อลิตร) พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงคู่ควบ ZnO/WO3 ที่ร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก (5.0ZW) สามารถนำกลับทองได้มากที่สุดคือร้อยละ 99.87 ภายใน 5 ชั่วโมง ค่าพีเอชเริ่มต้นของน้ำเสียจากการผลิตแผงวงจรพิมพ์เท่ากับ 11.21 ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 20 โดยปริมาตร ปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยา 2 กรัมต่อลิตร ความเข้มแสง 3.57 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง 5.0ZW มีปริมาณที่ว่างออกซิเจนและมีโครงสร้างแบบเฮเทอโรจังชัน (Heterojunction) ที่เหมาะสมส่งผลให้อัตราการรวมตัวกลับระหว่างอิเล็กตรอนและโฮลลดลง รวมทั้งมีตำแหน่งแถบพลังงานเหมาะสมกับช่วงของศักย์ไฟฟ้าการเกิดปฏิกิริยารีดักชันของสารประกอบเชิงซ้อนทองไซยาไนด์ โดยตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวมีเสถียรภาพคงที่แม้ผ่านการใช้งานซ้ำ 6 ครั้ง