Abstract:
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาคุณลักษณะและประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาโมลิบดินัมออกไซด์และทังสเตนออกไซด์บนตัวรองรับไบโอชาร์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ (Mo/BOC และ W/BOC) โดยการทำปฏิกิริยาดีไฮเดรชันของเอทานอลไปเป็นเอทิลีนที่อุณหภูมิ 200 - 400 องศาเซลเซียสและทำการแปรค่าเปอร์เซ็นของโลหะที่ใส่ลงไปที่ 2, 5, 7 และ 10% โดยน้ำหนัก วิธีการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาจะใช้วิธีการเคลือบฝังทั้งหมด หลังจากนั้นจะนำตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้ไปทำการทดสอบคุณลักษณะด้วยวิธีต่างๆ เช่น SEM-EDX, XRD และอื่นๆ เป็นต้น ต่อมาจะได้ทำการหาตัวเร่งปฏิกิริยาที่ให้ค่าเปอร์เซ็นคอนเวอร์ชันสูงสุด ค่าการเลือกเกิดของเอทิลีนที่ดีที่สุดและอุณหภูมิที่ทำให้เกิดเอทิลีนมากที่สุด อีกทั้งยังทำการเปรียบเทียบตัวรองรับไบโอชาร์ที่ทำมาจากวัสดุอื่นอีก ได้แก่ ไบโอชาร์จากชานอ้อยและกัญชง โดยผลการทดลองจะได้ว่าเปอร์เซ็นของโลหะที่เหมาะสมที่สุดคือ 10% ทั้งของโมลิบดินัมออกไซด์และทังสเตนออกไซด์ โดย 10%Mo/BOC จะให้ค่าคอนเวอร์ชันสูงที่สุดเท่ากับ 44.6% ค่าการเลือกเกิดเอทิลีนมากสุด 57.5% และอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 400 องศาเซลเซียส 10%W/BOC จะให้ค่าคอนเวอร์ชันสูงที่สุดคือ 6.8% ค่าการเลือกเกิดเอทิลีนสูงสุดเท่ากับ 49.6% และอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 400 องศาเซลเซียส