Abstract:
ในฐานะงานที่กินเวลา งานขนถ่ายไม่สร้างมูลค่าเพิ่มแต่มีความจำเป็นในกิจกรรมการหยิบสินค้าซึ่งควรถูกดำเนินการโดยอัตโนมัติในศูนย์กระจายสินค้า ประกอบกับการขาดแคลนแรงงาน ศูนย์กระจายสินค้ากรณีศึกษาจึงได้ประยุกต์ใช้พาหนะลำเลียงวัสดุอัตโนมัติระบบราง หรือ Rail Guided Vehicle (RGV) เพื่อขนถ่ายพาเลทระหว่างอาคารและระบบกึ่งอัตโนมัติ การวิเคราะห์เบื้องต้นของอุปกรณ์ RGV พบว่ามีอรรถประโยชน์การใช้งานต่ำและการปิดรอบการหยิบสินค้า (เวฟ) ที่ล่าช้า เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างกิจกรรมคลังสินค้าและการขนส่งในทิศทางเดียวของอุปกรณ์ ดังนั้นผู้วิจัยจึงนำเสนอรูปแบบการกำหนดนโยบายจากปัจจัยต่อไปนี้ 1.การเลือกรับงานจากความสำคัญของงาน 2. การเลือกรับงานจากการพิจารณางานถัดไป 3. การมอบหมายงานให้ RGV และ 4. การเพิ่มจำนวน RGV โดยทำการวิเคราะห์จากการสร้างแบบจำลองสถานการณ์แบบ Monte Carlo ด้วยคอมพิวเตอร์ และเนื่องจากระบบการลำเลียงงานเป็นแบบไม่สิ้นสุด ดังนั้นการทดลองแต่ละครั้งจึงมีช่วงเวลาก่อนเข้าสู่สภาวะคงตัวระยะเวลา 12 ชั่วโมง ทำซ้ำทั้งหมด 30 ครั้ง ผลการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยที่เหมาะสม คือ การจัดลำดับความสำคัญของงานจากการพิจารณางานถัดไปแบบจับคู่ โดยมอบหมายงานให้ RGV ที่อยู่ใกล้สถานีมากที่สุด โดยคงจำนวน RGV ในระบบ 38 ตัว ผลลัพธ์ที่ได้ ให้ค่าอรรถประโยชน์ต่อชั่วโมง และ จำนวนพาเลทต่อรอบการเคลื่อนที่ เพิ่มขึ้น 5% และ 21% ตามลำดับ ส่วนเวลาที่ใช้ในการทำงานเวฟ และค่าพลังงานไฟฟ้าต่อวัน ลดลงประมาณ 28.75% และ 23% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ของสถานการณ์ปัจจุบัน