Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาสาระสำคัญและแนวคิดของแผนการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสิ้นสุดยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งผลสำเร็จของการจัดการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างคนและสร้างชาติ
ผลการวิจัยพบว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติรวมทั้งสิ้น ๙ แผน และหลักสูตรรวมทั้งสิ้น ๘ หลักสูตร ถือเป็นการกำหนดแนวการจัดการศึกษาของประเทศให้เป็นระบบและเป็นกระบวนการครั้งแรก แผนการศึกษาแห่งชาติมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแม่บทหลักในการจัดการศึกษาของประเทศ อันก่อให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการจัดการศึกษา คือ การจัดทำหลักสูตร และการปรับปรุงหลักสูตร สำหรับการจัดการเรียนการสอนปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษา ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ คือการผลิตครูผู้มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูใน พ.ศ. ๒๔๓๕ และพัฒนาสืบเนื่องมาเป็นการผลิตครูบัณฑิตโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จากการศึกษาสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรทุกฉบับ และการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้วิจัยพบว่าพระราชญานทัศน์ พระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการศึกษาทั้ง ๓ รัชกาลทรงยึดหลักการสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาคือการสร้างคน สร้างชาติ ด้วยการศึกษาตามแบบอารยประเทศ การสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถตามแบบอย่างวิทยาการตะวันตก สำหรับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติให้เจริญเท่าเทียมอารยะประเทศและรักษาชาติให้รอดพ้นจากภัยลัทธิจักรวรรดินิยม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และวิถีชีวิตของคนไทย โดยมิได้มีพระราชประสงค์จะลอกเลียนแบบแนวคิดตะวันตกทั้งหมด การจัดการศึกษาจึงควบคู่กับการกล่อมเกลาคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา การปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย มิใช่วัตถุประสงค์เพื่อเข้ารับราชการเสียทั้งหมด จึงได้มีการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ตลอดจนการจัดการศึกษาเพื่อปลูกฝังให้คนไทยมีจิตสำนึกของความรักชาติ เสียสละเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นส่วนรวม จึงกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษาในอดีตของไทย แม้ว่าจะพบอุปสรรคในด้านขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรก็ตาม แต่ก็สามารถจัดการได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามและเหมาะสมสำหรับสังคมไทย สมควรที่นักการศึกษาในปัจจุบันจักนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อบริหารจัดการศึกษาของไทยให้เกิดการพัฒนาคนและพัฒนาชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป