Abstract:
ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทางอาชีพแบบกลุ่มตามแนวพัฒนาการต่อการเพิ่มเอกลักษณ์เชิงอาชีพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 32 คน ที่มีคะแนนเอกลักษณ์เชิงอาชีพต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 27 โดยสุ่มอย่างง่ายเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 16 คน กลุ่มทดลองได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทางอาชีพแบบกลุ่มตามแนวพัฒนาการ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง รวม 12 ครั้ง โดยมีผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดเอกลักษณ์เชิงอาชีพของ ฮอลแลนด์ ก็อตเฟร็ดสัน และพาวเวอร์ (Holland, Gottfredson and Power, 1980) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนเอกลักษณ์เชิงอาชีพ จากการทดสอบก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทางอาชีพแบบกลุ่มตามแนวพัฒนาการมีคะแนนเอกลักษณ์เชิงอาชีพเพิ่มขึ้นและสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01