Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยนี้เพื่อศึกษาการเก็บโอโอไซต์ด้วยวิธีเข็มดูดเจาะต่อกับเครื่องมือคลื่นความถี่สูงในกระบือปลักไทยในกระบือที่ไม่ตั้งท้องและกระบือหลังคลอด โดยศึกษาจำนวนโอโอไซต์และชนิดของโอโอไซต์ที่เก็บได้ และผลกระทบของการเจาะรังไข่ด้วยวิธี OPU ต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำการศึกษาในกระบือไม่ตั้งท้อง จำนวน 5 ตัว และกระบือหลังคลอดประมาณ 3 เดือนจำนวน 6 ตัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่กระตุ้นด้วยฟอลลิเคิล สติมูเลติงฮอร์โมน ขนาด 400 มก. และกลุ่มที่ไม่ได้กระตุ้น ผลการศึกษาพบว่าการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนทำให้ได้จำนวนโอโอไซต์ที่มากกว่ากระบือทั้งสองชนิดเมื่อเปรียบเทียบกับกระบือที่ไม่ได้ทำการกระตุ้น โดยได้ค่าเท่ากับ 3.7+-2.7(n=112) เทียบกับ 1.4+-1.3 (n=35) โอโอไซต์ต่อตัว (P<0.05) ในกลุ่มกระบือที่ไม่อุ้มท้อง และเท่ากับ 5.9+-3.5 (n=196) เทียบกับ 0.7+-0.8 (n=24) โอโอไซต์ต่อตัว (P<0.05) ในกลุ่มกระบือหลังคลอด โดยอัตราการเก็บโอโอไซต์ในกระบือทั้งสองกลุ่มเท่ากับ 50-60% โอโอไซต์ที่ได้มีลักษณะที่มีเซลล์คิวมูลัสหุ้มรอบประมาณ 60-70% และจากการศึกษาผลการะทบหลังเจาะโดยติดตามการเจริญของฟอลลิเคิลทุกสัปดาห์ในกระบือ 4 ตัวพบว่าทุกสัปดาห์จะมีฟอลลิเคิลจำนวนหนึ่งที่เจริญขึ้นมาเท่ากับ 2.4+-1.3 (n=75) ฟอลลิเคิลต่อตัวและสามารถเจาะเอาโอโอไซต์ได้ทุกสัปดาห์ เท่ากับ 1.2+-1.3 (n=37) โอโอไซต์ต่อตัว และจากการติดตามการทำงานของรังไข่โดยการตรวจจากการเจริญของฟอลลิเคิลด้วยเครื่องอัลตราซาวน์หลังสิ้นสุดการเจาะโอโอไซต์พบว่ากระบือ 3 ใน 4 ตัว มีการแสดงการพัฒนาเป็นคลื่นมีการเกิดฟอลลิเคิลชนิดโดมิแนนท์ประมาณ 15-16 วัน แสดงให้เห็นว่ารังไข่ยังคงมีการทำงานได้ตามปกติ จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสามารถเจาะเก็บโอโอไซต์จากรังไข่ของแม่กระบือที่ไม่อุ้มท้องและหลังคลอด ทั้งกระตุ้นและไม่กระตุ้นด้วยฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รวมทั้งรังไข่มีฟอลลิเคิลที่เจริญปกติหลังเลิกเจาะ