Abstract:
จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อนำวิธีการปฏิสนธินอกร่างกายมาทดสอบความสมบูรณ์พันธุ์ของพ่อสุกร (การทดลองที่ 1) และเพื่อศึกษาผลของระยะเวลาการเก็บน้ำเชื้อสดเจือจางที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส, 5 องศาเซลเซียส และน้ำเชื้อแช่แข็งที่ -196 องศาเซลเซียส นาน 0, 2, 4 และ 6 วัน ต่ออัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิภายนอกร่างกายของสุกร (การทดลองที่ 2) การทดลองที่ 1: นำน้ำเชื้อที่รีดจากพ่อสุกรพันธุ์ดูร็อค ลาร์จไวท์ และแลนด์เรช จำนวนสายพันธุ์ละ 3 ตัว ที่ใช้อยู่ในฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ มาปฏิสนธิกับโอโอไซต์ที่เก็บมาจากรังไข่ของสุกรสาวและนำมาเลี้ยงเพื่อให้พร้อมปฏิสนธิ (นาน 40-44 ชม.) โดยเลี้ยงรวมกันนาน 18 ชม. ที่อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ในบรรยากาศ 5% คาร์บอนไดออกไซด์ แล้วนำตัวอ่อนที่ได้ไปเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนชนิด ทีซีเอ็ม 199 หรือน้ำยา บี ทู +20% ฟีตัล คาร์ฟ ซีรั่ม นาน 5 วัน เพื่อตรวจดูการแบ่งตัวของตัวอ่อน จากการศึกษาพบว่าพ่อพันธุ์สุกรแต่ละตัวในแต่ละพันธุ์ มีอัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิ คืออัตราการแบ่งตัวและอัตราการพัฒนาของตัวอ่อนเป็นระยะมอรูล่าแตกต่างกัน (P<0.001), (P<0.05) ในกรณีที่ไม่พบความแตกต่างของอัตราการแบ่งตัวในระยะแรกระหว่างพ่อสุกรแต่ละตัว การใช้อัตราการพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะมอรูล่าจะเป็นตัวตัดสินได้ การทดลองที่ 2 : รีดน้ำเชื้อจากพ่อสุกร 2 ตัว (สุกร เอ และสุกร บี) ที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปปฏิสนธิภายนอกร่างกายกับโอโอ-ไซต์ วิธีการปฏิสนธิและการเลี้ยงตัวอ่อนใช้เช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 นำตัวอ่อนประมาณ 10% ในกลุ่มที่ได้จากการปฏิสนธิด้วยน้ำเชื้อที่เก็บที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ตามระยะเวลาต่างๆมาย้อมสีอาซิโต-ออซิน เพื่อสังเกตอัตราการปฏิสนธิ และที่เหลือนำมาเลี้ยงในน้ำเพาะเลี้ยงเพื่ออัตราการแบ่งตัวของตัวอ่อนเช่นเดียวกับกลุ่ม 5 องศาเซลเซียส และ -196 องศาเซลเซียส ผลการวิจัย พบว่า เมื่อเก็บน้ำเชื้อเป็นระยะเวลา 0, 2, 4, 6 วัน ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส อัตราการแบ่งตัวอ่อนลดลงตามระยะเวลาที่เก็บรักษาน้ำเชื้อ (P<0.05, P<0.01 และ 0.001) โดยอัตราการแบ่งตัวของตัวอ่อนเมื่อใช้น้ำเชื้อจากสุกร บี มีแนวโน้มสูงกว่าเมื่อใช้น้ำเชื้อจากสุกรเอ แต่ผลนี้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อนำน้ำเชื้อจากสุกร บี มาเก็บที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 0, 2, 4, 6 วัน พบว่าอัตราการแบ่งตัวของตัวอ่อนต่ำกว่าเมื่อเก็บน้ำเชื้อไว้ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส (P<0.01) โดยระยะเวลาในการเก็บน้ำเชื้อไม่มีผลต่ออัตราการแบ่งตัวของตัวอ่อนเมื่อเก็บน้ำเชื้อไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับที่พบในกรณีของน้ำเชื้อแช่แข็ง ผลการวิจัยทั้งสองการทดลองนี้สรุปได้ว่าสามารถนำวิธีการปฏิสนธินอกร่างกายไปทดสอบคุณภาพของน้ำเชื้อในแง่ความสมบูรณ์พันธุ์ และระยะเวลาการเก็บน้ำเชื้อของสุกรที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส มีผลต่ออัตราการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย แต่ผลดังกล่าวไม่พบในกรณีที่เก็บน้ำเชื้อไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และ -196 องศาเซลเซียส