Abstract:
ปัจจุบันการใช้ยากลุ่ม azole เพื่อรักษาโรคติดเชื้อยีสต์เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลาย และรายงานเชื้อCandida ดื้อต่อยา fluconazole ในยากลุ่ม azole มีเพิ่มขึ้น เชื้อ Candida เหล่านี้มักแยกจากผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งมักมีประวัติการใช้ยา fluconazole ในที่นี้ คณะผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์ศึกษากลไกการดื้อยา fluconazole ในระดับโมเลกุลใน Candida สายพันธุ์ที่แยกได้จากรอยโรคในช่องปากของผู้ป่วยเอดส์และมีความไวรับต่อยาfluconazole (Minimum inhibitory concentration, MIC = 2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ในหลอดทดลอง ด้วยการกระตุ้นในสภาวะที่มีความเข้มข้นยาที่สูง จากนั้นศึกษาในระดับโมเลกุล การกระตุ้นในหลอดทดลองโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อเซลล์เดี่ยวจากสายพันธุ์ดังกล่าวในอาหารเลี้ยงเชื้อ RPMI ที่มียา fluconazole ที่ความเข้มข้นสุดท้ายเป็น 8 16 32 และ 64 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (กลุ่ม 2 – 5 ตามลำดับ) เป็นเวลานาน 60 วัน และหาค่า MICของเชื้อในวันที่ 0 15 30 และ 60 หลังจากการกระตุ้น ด้วยวิธี Microdilution broth อิงมาตรฐาน CLSI M27-A ผลการศึกษาพบว่า หลังการกระตุ้นแล้ว15 วัน เชื้อทุกกลุ่มที่ถูกกระตุ้น (inducible strain) มีค่า MICเพิ่มสูงขึ้นจาก 2 เป็น 32 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และหลัง50 วัน พบว่า ร้อยละ 40 ของเชื้อในกลุ่ม 5 เท่านั้น ที่มีค่าMIC สูงขึ้นถึง 64 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ค่า MIC ที่เพิ่มขึ้นนี้มีความเสถียรอย่างน้อย 30 วัน ต่อมาได้ทำการศึกษาลำดับเบสของยีน ERG11 ของ inducible strain ที่มีค่า MIC เพิ่มสูงขึ้น โดยวิธี PCR พบลำดับเบสไม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่มีความไวรับต่อยา และเมื่อเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนก็ให้ผลเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งลำดับเบสของเชื้อทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่แยกได้จากผู้ป่วยที่ดื้อต่อยา โดยมีความแตกต่างกัน 1 เบสที่ตำแหน่งที่สอง (จาก TCA ไปเป็น TTA) ส่งผลให้กรดอะมิโนเปลี่ยนจาก Leucine เป็น Serine ที่ตำแหน่ง 421 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยังไม่เคยมีรายงานการศึกษามาก่อน นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาการแสดงออกของ putative gene ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาในกลุ่ม azole คือ MDR1 CDR1 CDR2 และTAC1 (CDR1 และ CDR2 transcriptional gene) ใน inducing strain ที่มีค่า MIC เพิ่มขึ้นหลังจากการกระตุ้นแล้ว 30 และ 50 วัน โดยวิธี Reverse Transcriptase PCR (RT – PCR) ผลการศึกษา พบการแสดงออกของยีน MDR1 CDR1 CDR2 และ TAC1 แต่การแสดงออกนั้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดิมที่ไวรับต่อยา