Abstract:
การวิจัยเรื่องระบบการจัดหางานไปต่างประเทศในประเทศไทยและการร้องเรียนของแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการจัดหางานไปต่างประเทศของบริษัทจัดหางาน และศึกษาผลกระทบของระบบการจัดหางานโดยบริษัทจัดหางานที่มีต่อคนหางาน กรณี การร้องเรียนของแรงงาน การศึกษาใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ ระบบการจัดหางานเพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบ่งตามลักษณะของการเดินทางไปทำงานได้เป็น 5 วิธี ได้แก่ การเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน กรมการจัดหางานจัดส่ง และการเดินทางโดยบริษัทจัดหางาน ระบบการจัดหางานไปต่างประเทศของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยมีการแข่งขันกันอย่างเสรี โดยมีรัฐควบคุมดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ในปี พ.ศ.2543 มีบริษัทจัดหางานไปต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจำนวน 257 ราย จากกรณีศึกษาบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งพบว่าระบบการจัดหางานไปต่างประเทศมีองค์ประกอบ 5 ฝ่าย คือ นายจ้างต่างชาติ ตัวแทนนายจ้าง(Broker) บริษัทจัดหางาน สาย/นายหน้า และแรงงาน ภายในระบบการจัดหางานพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น คือ นายจ้างและตัวแทนนายจ้างร่วมกันกำหนดราคาตำแหน่งงานและปล่อยให้มีการแข่งขันกันประมูลทำให้ราคาตำแหน่งงานสูงมากประมาณ 25,000-135,000 บาท/ตำแหน่ง แรงงานเดินทางไปแล้วงานไม่เป็นไปตามสัญญา บริษัทจัดหางานมีการรับสมัครแรงงานเป็นการล่วงหน้าก่อนได้รับอนุญาต มีการซื้อตำแหน่งงานและแรงงานจากบริษัทจัดหางานรายอื่น บริษัทจัดหางานมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงกฎหมายโดยเปิดบริษัทจัดหางานสาขาเป็นเครือข่ายจัดหางานเดียวกัน จัดเก็บค่าบริการจัดหางานสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดประมาณ 64,000-200,000 บาท เรียกเก็บเงินค่าบริการจากแรงงานเป็นการล่วงหน้าเกิน 30 วัน จ่ายค่าบริการจัดหางานแล้วไม่ได้เดินทาง บริษัทจัดหางานที่ถูกสั่งพักหรือยกเลิกใบอนุญาตแต่ยังคงมีการรับสมัครงาน สาย/นายหน้าไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง สาย/นายหน้ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินความเป็นจริงประมาณ 6,000-30,000 บาท สาย/นายหน้ารับเงินค่าบริการจัดหางานแทนบริษัทจัดหางานแล้วไม่ดำเนินการจัดส่ง ตัวแรงงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน คือ แรงงานไม่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสาย/นายหน้า ให้ความร่วมมือกับบริษัทจัดหางานหลบเลี่ยงกฎหมาย ยอมรับความเสี่ยงไว้กับตัวเองโดยการสมยอมกับบริษัทจัดหางาน และแรงงานไม่ไปรายงานตัวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง ผลกระทบของระบบการจัดหางานโดยบริษัทจัดหางานที่มีต่อคนหางาน เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนของแรงงานพบว่าสาเหตุของการร้องเรียนมาจากปัญหาในระบบการจัดหางาน ในเบื้องต้นเมื่อแรงงานประสบปัญหาแรงงานจะช่วยเหลือตนเองใน 2 ลักษณะ คือ กรณีที่ยังไม่ได้เดินทางแรงงานจะติดต่อขอไกล่เกลี่ยกับสาย/นายหน้า และบริษัทจัดหางาน กรณีที่แรงงานเดินทางไปต่างประเทศแล้วแรงงานจะขอไกล่เกลี่ยปัญหากับเอเยนต์ ล่าม และนายจ้าง หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจะขอความช่วยเหลือกับ สำนักงานแรงงานไทย และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศ แต่ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น แรงงานจะร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องทุกข์ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ในช่วงปี 2539-2541 มีแรงงานร้องเรียนจำนวน 15,324 ราย มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกคิดเป็นเงิน 463 ล้านบาท กรมการจัดหางาน สามารถช่วยเหลือได้ 6,985 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.58 และสามารถติดตามให้บริษัทจัดหางานชดใช้ความเสียหายได้ 202 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.60 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด