Abstract:
บทความนี้ต้องการเสนอความคิดในการรู้รักษาตัวรอดของคนไทยที่ได้รับผ่านมาทางพระพุทธศาสนาและถ่ายทอดไว้ในภาษาและวรรณคดีไทย ผลจากการศึกษาวรรณคดี 3 เรื่อง คือ บทละครนอกเรื่องสังข์ทองสำนวนรัชกาลที่ 2 บทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน และนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ พบว่า ตัวละครในทุกเรื่องยอมรับว่า ความสุขและความทุกข์เป็นของคู่กัน ไม่มีสภาวะใดคงที่ ความทุกข์เกิดจากกรรม วิธีดับทุกข์ในขณะที่ต้องเผชิญวิบากกรรมนั้นก็คือ “การรักษาตัว” โดยการครองตัวให้อยู่ในศีลธรรม ด้วยความอดทน เพื่อหวังว่าบุญกุศลที่ทำมาจะทำให้กรรมค่อยๆหมดไป ความอดทนรอดูผลระยะยามเป็นภูมิปัญญาหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยสามารถเผชิญด้วยเผชิญปัญหาด้วยความอดทนและไม่รีบร้อน นอกจากนี้กวีไทยยังให้ความสำคัญกับจิตใจเป็นพิเศษ จึงปรากฏคำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของ “ใจ” ที่หลากหลาย