Abstract:
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นความงามของโคลงที่กวีสืบทอดและสร้างสรรค์ในวรรณคดีไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งศึกษาการสืบทอดและการสร้างสรรค์สุนทรียภาพทางเสียง คำ และการใช้สำนวนโวหารในโคลง ผลการศึกษาพบว่า กวีในแต่ละสมัยได้สืบทอดและสร้างสรรค์สุนทรียภาพของการแต่งโคลง ดังนี้ ในระดับเสียงได้แก่ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ท้ายบาท การเล่นเสียงวรรณยุกต์ต่างระดับ การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะและเสียงสัมผัสสระ ในระดับคำ ได้แก่ การเล่นคำพ้องและการเล่นคำด้วยการซ้ำคำ ส่วนการใช้สำนวนโวหารเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กวีได้สืบทอดขนบการใช้สำนวนโวหารในการรจนาโคลงจากกวีในสมัยก่อนหน้า แต่ทั้งนี้กวีก็มิได้มุ่งเลียนแบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้พัฒนาสำนวนโวหารจากโคลงโบราณให้มีลักษณะเฉพาะของกวีแต่ละคนเพื่อให้โคลงมีรสแปลกใหม่ทั้งในด้านรสคำและรสความ กล่าวได้ว่าความไพเราะและความคมคายของโคลงที่สืบทอดและสร้างสรรค์นี้มีความสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของภาษาไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโคลงเป็นคำประพันธ์ที่เป็นของคนไทย ดังนั้น กวีจึงใช้ประโยชน์จากลักษณะเด่นของภาษาไทยในการสร้างสรรค์สุนทรียภาพนับตั้งแต่การแต่งโคลงในวรรณคดีโบราณเรื่อยมาจนถึงการแต่งโคลงในกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่