Abstract:
ศึกษาการกระจายตัว ประเภทและรูปแบบของที่อยู่อาศัย ศึกษาความสัมพันธ์เชิงที่ตั้งระหว่างที่อยู่อาศัยกับแหล่งงาน ในด้านโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง การบริการขนส่งสาธารณะ ปัญหาและอุปสรรคในการเดินทางระหว่างที่พักอาศัย-แหล่งงาน ศึกษาปัจจัยในการเลือกที่อยู่อาศัย ปัญหาในที่อยู่อาศัย ศึกษานโยบายและบทบาทของภาครัฐ-เอกชนที่มีต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย และวิสัยทัศน์การ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย เสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยของแรงงานในอนาคต โดยวิเคราะห์บริเวณที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย ของแรงงานในอนาคต การปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง การให้บริการขนส่งสาธารณะ รูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับแรงงาน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สัมพันธ์กับการพัฒนาเมือง ผลการศึกษาพบว่าแรงงานในพื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่ ต้องจัดหาที่พักอาศัยเอง ทางผู้ประกอบการมักให้สวัสดิการในด้านพาหนะรับ-ส่งแรงงาน ระหว่างโรงงาน-ที่พักอาศัยและเงินค่าเช่าบ้าน ปัญหาที่อยู่อาศัย คือ แรงงานต้องเช่าที่พัก อาศัยราคาถูก สภาพไม่ดีนัก ที่อยู่อาศัยบางแห่งอยู่ห่างไกลจากโรงงาน การเดินทางเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จากการคาดการณ์ความต้องการที่อยู่อาศัยของแรงงาน พบว่า ในปี พ.ศ.2548 แรงงานในพื้นที่ศึกษามีความต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 47,000 หน่วย แรงงานในเขตอำเภอบางปะกงต้องการที่พักอาศัยมากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของแรงงาน จึงนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอนาคต จากการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับพัฒนาเป็นย่านพักอาศัยของแรงงาน พบว่า อยู่ในบริเวณที่เข้าถึงได้จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ถนนจรัณยานนท์ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314 บริเวณตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี บริเวณเทศบาลเมืองชลบุรี-สุขาภิบาลบ้านสวน-สุขาภิบาลบางทราย บริเวณเทศบาลตำบลแสนสุข-สุขาภิบาลอ่างศิลา บริเวณสุขาภิบาลบางพระ บริเวณเทศบาลเมืองศรีราชา-เทศบาลตำบลแหลมฉบัง บริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน) เสนอแนะแนวทางปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมและขนส่งทางรถยนต์ การปรับปรุงการเดินทางโดยรถไฟให้มีบทบาทในการเดินทางของแรงงาน ไปสู่แหล่งงาน ที่พักและย่านบริการ ให้มีสถานีจอดรถเพิ่มขึ้น ปรับปรุงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เสนอแนะที่ตั้งศูนย์บริการชุมชนโดยยกฐานะสุขาภิบาลบางวัว และสุขาภิบาลคลองตำหรุให้เป็นศูนย์บริการชุมชนระดับอำเภอขนาดใหญ่ และให้ชุมชนบ่อวินเป็นศูนย์บริการชุมชนชนบทแห่งใหม่ รูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับแรงงานในอนาคต จะมีลักษณะเป็นอาคารสูงไม่เกิน 5 ชั้นในรูปของ แฟลตอพาร์ทเม้นท์ ให้พัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง โดยให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยให้มีพื้นที่กันชน (Buffer Zone)ระหว่างย่านที่พักอาศัยกับกลุ่มโรงงาน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความเป็นระเบียบของย่านที่อยู่อาศัยของแรงงาน