Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75277
Title: มาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริม E-Sport ในประเทศไทย
Authors: ณัฐรดา ทวีวัฒน์
Advisors: ทัชชมัย ฤกษะสุต
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะนิติศาสตร์
Advisor's Email: Tashmai.R@Chula.ac.th
Subjects: อุตสาหกรรมเกมอิเล็กทรอนิกส์
การส่งเสริมอุตสาหกรรม -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
Issue Date: 2562
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: 1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นการแข่งขันบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้เล่น ทั้งในประเภทบุคคลและประเภททีม พัฒนาต่อยอดมาจากการเล่นเกมออนไลน์มาเป็นการเล่นเกมเพื่อแข่งขันหาผู้ชนะอย่างเป็นทางการ โดยมีการแข่งขันตามกฎและรูปแบบการเล่นของแต่ละเกม กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เป็นกีฬาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีการเติบโตอย่างอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดและคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10-12 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งความนิยมในกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ที่เป็นการแข่งขันระหว่างผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกมส์เข้ากับภาคธุรกิจอื่น ๆ และด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการพัฒนาเกมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน และการพัฒนาเกมในกลุ่มของผู้ประกอบการไทยที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต รวมถึงเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ขยายตัวต่อเนื่อง การเติบโตที่รวดเร็วของวงการ E-Sport ทำให้เกิดสายอาชีพใหม่มากมาย สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็เริ่มให้ความสนใจและส่งเสริมให้มีการเปิดสอนในสาขาวิชาเกี่ยวกับ E-Sport อีกด้วย เช่น E-Sport Game Study เป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งสอนเกี่ยวกับวงการ E-Sport ที่เน้นในการทำความเข้าใจกับสายงานและอาชีพต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม เพื่อปั้นบุคลากรรองรับวิชาชีพด้านนี้และตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของภาพรวมธุรกิจ E-Sport เป็นต้น E-Sport จึงเป็นอุตสาหกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมเกมของไทยจากประเทศผู้ใช้งานมาเป็นผู้ผลิตและแข่งขันเกมในระดับสากลต่อไปด้วย และจากปรากฏการณ์อินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้อย่างแพร่หลาย กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport สามารถแข่งขันทางออนไลน์ได้ ทำให้มีการจัดการการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่มีทั้งเงินรางวัลและรูปแบบการแข่งขันทั้งแบบฤดูกาลและการแข่งแบบ “Tournament” มากขึ้นทุกปี ดังนั้น เมื่อตลาดมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน เป็นการพัฒนา และส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลทั้งหมดสามารถกล่าวได้ว่า กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ของประเทศไทยมีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จอยู่เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ แต่ยังถือว่าเป็นความสำเร็จที่เล็กน้อย ถ้าเทียบกับนักกีฬาอาชีพ E-Sport ของต่างประเทศ รวมถึงขนาดของอุตสาหกรรม E-Sport ในประเทศไทยเช่นกัน ถึงแม้จะมีรายการแข่งขันระดับใหญ่และการจัดงานนิทรรศการของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศเกิดขึ้นบ้างแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในต่างประเทศ แม้ว่าภาครัฐยังไม่สนับสนุนกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport มากพอแต่ทีมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ของไทยก็สามารถก้าวมาเป็นที่รู้จักในวงการ E-Sport ของโลกจำนวนหนึ่ง ได้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งในฐานะทีมชาติและในฐานะทีมอิสระรวมถึงได้รับรางวัลชนะเลิศบางรายการในเวทีนานาชาติ จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าวงการ E-Sport ของประเทศไทยสามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศได้หากได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้บรรจุให้กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เป็นกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อความสะดวกและสามารถส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศได้ โดยสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำหนดข้อบังคับ นโยบาย คุณสมบัติของนักกีฬา สำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ตามเงื่อนไขการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ภายใต้พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558 แต่ประเทศไทยมีเพียงการจัดตั้งสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 และมีหน้าที่กำหนด บทบาท หน้าที่ และนโยบายต่าง ๆ เพื่อกำกับ ดูแลและส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เฉพาะนักกีฬาอาชีพที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกและซีเกมส์เท่านั้น สมาคมฯ ยังคงไม่ได้รับอำนาจที่เพียงพอจากการกีฬาแห่งประเทศไทย สำหรับการจัดการและดูแลภาคเอกชนซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ใหญ่ในระบบ E-Sport ของประเทศ และยังคงไม่มีระบบกฎหมายในการกำกับดูแลนักกีฬาอาชีพ การจัดการการแข่งขัน รวมถึงการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากรัฐบาลที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นปัญหาที่สำคัญของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทย มีดังนี้ การกำกับดูแลและสนับสนุนนักกีฬาอาชีพ สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยภายใต้การกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล และสนับสนุนนักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ ยกตัวอย่างปัญหาที่ผ่านมา เช่น วิธีการคัดเลือกนักกีฬาอาชีพเพื่อเข้าแข่งขันซีเกมส์ที่มีการคัดเลือกซ้ำซ้อน ไม่เป็นมาตรฐาน รวมไปถึงปัญหารายได้ สวัสดิการและผลประโยชน์ของนักกีฬา ที่ไม่มีข้อบังคับ ข้อกำหนดในการกำกับดูแลที่ชัดเจน เป็นรูปแบบเดียวกัน และหากในภายหลังมีประเด็นฟ้องร้องเกิดขึ้น นักกีฬาอาชีพที่สังกัดเอกชนจะต้องดำเนินการฟ้องร้องด้วยตนเอง สมาคมฯ ไม่มีอำนาจ หน้าที่ เข้าไปเกี่ยวข้องหรือร่วมตัดสินใจ นอกจากนั้นแล้ว ในเรื่องของการพัฒนา ฝึกอบรม นักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ มาตรฐานและการจัดการฝึกอบรมที่ชัดเจน ที่จะทำให้มั่นใจว่านักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ เป็นบุคคลที่มีความสามารถ เข้าใจในระบบการจัดการของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการแข่งขัน สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับ ดูแล และส่งเสริมในการการจัดการหรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ที่ในปัจจุบันสามารถจัดแข่งได้โดยไม่ต้องดำเนินการขออนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หากภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขัน รัฐบาลจะไม่สามารถทราบได้เลยว่า เกมที่ใช้ในการแข่งขันเป็นอย่างไร เนื้อหาเหมาะสมหรือไม่ การกำกับดูแลและการอำนวยความสะดวกให้แก่นักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ รวมถึงผู้เข้าชมการแข่งขัน ตลอดจนการจัดการการแข่งขันเป็นอย่างไร และสมาคมฯ ก็ไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการโดยตรงหากพบความผิดปกติ การส่งเสริมด้านเงินลงทุน การกีฬาแห่งประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนแค่เพียงส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันซีเกมส์และโอลิมปิกเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้ในบางรายการแข่งขันที่สำคัญ ซึ่งถ้าเป็นการแข่งขันในนามประเทศ ประเทศจะได้รับความเสียหายทั้งด้านชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในการเข้าร่วมแข่งขันครั้งต่อไป นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทุนการศึกษาของนักกีฬาอาชีพ และบุคลากรอาชีพ ที่นักกีฬาอาชีพของสมาคมฯ ไม่ได้รับอนุมัติทุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ถึงแม้ว่าสมาคมฯ จะถูกบรรจุให้อยู่ภายใต้การกีฬาแห่งประเทศไทย และเป็นนักกีฬาอาชีพที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ในประเทศก็ตาม ส่งผลให้นักกีฬาอาชีพที่มีความสามารถ แต่ไม่มีเงินทุน ไม่ได้รับการฝึกอบรม พัฒนา รวมถึงปัจจัยหลายอย่างในการฝึกซ้อมที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถฝึกฝนและพัฒนาต่อไปได้ 2. กฎหมายไทย และกฎหมายสาธารณรัฐเกาหลีประเทศที่เกี่ยวข้อง กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทย ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558 แต่ไม่ถูกบรรจุในพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 จึงไม่สามารถนำระเบียบ ข้อบังคับ มาใช้กับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ก็มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ ดูแล การจัดการแข่งขัน สามารถนำมาปรับใช้กับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport คือ การกำกับ ดูแล สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา เผยแพร่ และดำเนินกิจกรรมของนักกีฬาอาชีพให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยต้องมีการจัดทำหนังสือสัญญาจ้างหรือความตกลงร่วมกันสำหรับนักกีฬาอาชีพหรือบุคลากรอาชีพ และกำหนดบทบาท หน้าที่ ในขณะที่ยังดำรงตนเป็นนักกีฬาอาชีพ มีหน้าที่ในการจัดการแข่งขันหรือส่งนักกีฬาอาชีพเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในนามของชาติหรือประเทศไทย นอกจากนี้ สมาคมกีฬาจะต้องจัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ” ในการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือ การสงเคราะห์ สวัสดิการการส่งเสริม การสนับสนุนการพัฒนาและการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาอาชีพ นักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และสนับสนุนการแข่งขันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ที่รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พบว่า สาธารณรัฐเกาหลีทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เกมสามารถทำให้พวกเขามีอาชีพที่มั่นคงได้ เมื่อนักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ E-Sport มีความตั้งใจและจริงจัง ภาครัฐก็จะให้ความร่วมมือและให้ความสนับสนุนอย่างจริงจังเช่นกัน และมีการจัดทำนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเกม ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport รวมไปถึงจัดทำ ACT ON PROMOTION OF E-SPORT ขึ้นมาเพื่อกำกับ ดูแล และส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำหนดหลักสูตรเฉพาะเกี่ยวกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport รวมถึงจัดสรรเงินลงทุนให้กับมหาวิทยาลัยสำหรับฝึกอบรม พัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ E-Sport เพื่อให้ผลิตนักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพที่มีความสามารถ และสาธารณรัฐเกาหลี ยังให้ความสำคัญในเรื่องการคัดเลือกเกมเพื่อเข้าแข่งขันเป็นพิเศษ โดยกระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวมีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ขั้นตอนในการคัดเลือกเกม และแต่งตั้งหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบในการกำหนดเกมสำหรับจัดการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport อย่างมาก มีการอนุมัติให้รัฐบาล องค์กรสาธารณะหรือองค์กรธุรกิจที่มีส่วนร่วมในกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport สามารถจัดหาเงินทุนที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ซึ่งอาจเป็นการสนับสนุนเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในประเทศ ทำให้กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เติบโตขึ้นและเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 3. แนวทางในการนำกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีมาปรับใช้กับประเทศไทย จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ศึกษามา ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยควรเข้ามากำกับ ดูแล นักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ ควบคุมการจัดการการแข่งขัน และส่งเสริมด้านเงินลงทุนอย่างจริงจังกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น นอกเหนือจากการจัดตั้งสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเพื่อมากำกับ ดูแล โดยนำกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ประกอบกับนำกฎหมายส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ของสาธารณรัฐเกาหลีมาปรับใช้เพิ่มเติม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแนวทางในการกำกับ ดูแล ในแต่ละประเด็นปัญหามีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น จึงสามารถสรุปแนวทางในการพัฒนากฎหมายไทย ได้ดังนี้ (1) การกีฬาแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจ หน้าที่ ขอบข่ายการทำงานให้สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยในการกำกับ ดูแล คุ้มครอง นักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพทุกคน ไม่ยกเว้นเฉพาะนักกีฬาอาชีพโอลิมปิกและซีเกมส์เท่านั้น โดยสมาคมฯ จะเป็นศูนย์กลางในการดูแล ประสานงาน เยียวยา ให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดการร้องเรียน หรือได้รับความไม่เป็นธรรมในสัญญา เป็นต้น และสมาคมฯ ต้องจัดทำข้อบังคับ และข้อปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นมาตรฐานขึ้น โดยให้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศใช้โดยทั่วกัน เพื่อให้นักกีฬาได้รู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการเป็นนักกีฬาอาชีพ รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดขอบ กำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติของเกมที่จะได้รับการคัดเลือก พิจารณาคัดเลือกเกมที่ใช้ในการแข่งขัน และเข้าไปสอดส่อง ดูแลกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาต เป็นการกำกับ ดูแล ให้การจัดการการแข่งขัน หรือการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน มีการขออนุญาต มีการวางแผนการจัดการที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัย (2) รัฐบาลต้องประกาศบรรจุกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เข้าไปในพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ 2556 เพื่อรับรองสถานะความเป็นนักกีฬาอาชีพ ให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพกีฬา อำนวยความสะดวก การรักษาความปลอดภัยในการแข่งขัน รวมถึงให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือ และสนับสนุนกับนักกีฬาอาชีพแห่งชาติที่สร้างผลงานให้กับประเทศ เนื่องจากพระราชบัญญัตินี้ มีมาตราที่ประกาศใช้สำหรับกำกับ ดูแล ส่งเสริมนักกีฬาอาชีพ บุคลาการอาชีพที่เกี่ยวกับการกีฬาที่สำคัญ ตลอดจนมีมาตรการดูแลสัญญาระหว่างนักกีฬาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและความปลอดภัยของนักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ ซึ่งภาครัฐสามารถเข้าไปกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้วงการกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศอีกระดับหนึ่ง (3) การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องมอบอำนาจหน้าที่ให้สมาคมฯ เข้าไปประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและรัฐบาล ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความร่วมมือ เสนอแนะนโยบาย แผนพัฒนาการศึกษา สนับสนุนด้านวิชาการ ปฏิรูปการเรียนรู้ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุน สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักกีฬาอาชีพ E-Sport ที่มีความสามารถ แต่ไม่มีทุน ให้ได้พัฒนาฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ช่วยกันยกระดับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ให้มีคุณภาพ โดยเพิ่มหลักสูตรการศึกษาเข้าไปในระบบการศึกษา และจัดพัฒนา ฝึกอบรมความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ให้กับประชาชนที่สนใจ นักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ เป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (4) การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเป็นตัวแทนนักกีฬาในนามสมาคมฯ หรือตัวแทนในนามประเทศไทยแบบเต็มจำนวนหรือบางส่วนสำหรับการแข่งขันที่สร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงที่ดีให้ประเทศ โดยไม่ยกเว้นเฉพาะโอลิมปิกหรือซีเกมส์เท่านั้น โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยต้องจัดทำงบประมาณประจำปีสำหรับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport และมอบหมายให้สมาคม ฯ ไปจัดการ ซึ่งสมาคมฯ จะต้องชี้แจงทุกครั้งที่มีการนำงบประมาณไปใช้ และจัดทำรายงานประจำปีให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย มาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทย ถือว่ามีความสำคัญมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งการกำกับ ดูแล พัฒนา และสนับสนุนด้านเงินลงทุนให้กับนักกีฬาอาชีพ บุคลากรอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการจัดแข่งขัน ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เป็นมาตรฐานสากล จะเป็นการยกระดับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศอีกด้วย 4. ข้อเสนอแนะ จากบทสรุปข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า สาธารณรัฐเกาหลีมีการกำกับ ดูแล ส่งเสริมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport อย่างชัดเจน โดยสนับสนุนตั้งแต่การศึกษา ฝึกอบรม การจัดการแข่งขัน ตลอดจนเงินลงทุนในกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport นำไปสู่ความเชื่อมั่น ความพร้อมของนักกีฬา การแข่งขันที่ถูกจัดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทย ที่ยังคงเป็นเพียงการร่วมมือกันของกลุ่ม ๆ หนึ่ง รัฐบาลยังไม่มีมาตรการกำกับ ดูแล ที่ชัดเจน ทำให้กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทยยังไม่เติบโตอย่างเต็มที่นัก ซึ่งผู้เขียนได้เสนอแนวทางในการพัฒนากีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport โดยเสนอให้บรรจุกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เข้าไปเป็นกีฬาอาชีพ และให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเพิ่มขอบข่าย อำนาจ หน้าที่ให้สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกำกับ ดูแล กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องศึกษากีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เพิ่มเติมอีกหลายประเด็น เนื่องจาก ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ที่มีเพียงการจัดตั้งสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ รัฐบาลควรจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ที่เป็นปัจจุบันและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้นักกีฬา หรือประชาชนผู้สนใจได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร และทำความเข้าใจกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport เพื่อให้เกิดการพัฒนา และปฏิรูปกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ E-Sport ในประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานสากล ทัดเทียมนานาชาติ
Description: เอกัตศึกษา (ศศ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562
Degree Name: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: กฎหมายเศรษฐกิจ
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75277
Type: Independent Study
Appears in Collections:Law - Independent Studies

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
6186159134.pdf54.88 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.