Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/77675
Title: การปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีก : กรณีศึกษา ค่าธรรมเนียมแรกเข้า
Authors: รัชพร รุจิวรกุลทอง
Advisors: ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะนิติศาสตร์
Advisor's Email: taweejamsup@hotmail.com
Subjects: การค้า -- นโยบายของรัฐ
การค้าปลีก -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
Issue Date: 2563
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: เศรษฐกิจของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการอุปโภคและบริโภคซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเป็นกลไกหลักอย่างหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การอุปโภคและบริโภคของประชากรในประเทศไทยทำได้ง่ายขึ้น ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในประเทศมีมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปี 2560 และมีสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของ GDP สูงเป็นอันดับสองรองจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วนร้อยละ 26.8 ในอดีตธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจนกล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าผู้บริโภคโดยตรงเพียงกลุ่มเดียวลูกค้ากลุ่มที่ซื้อสินค้าปลีกมักจะนำสินค้าเหล่านี้ไปอุปโภคบริโภคโดยตรงและไม่ได้นำไปขายต่อเพื่อทำกำไร กำไรจากการค้าปลีกมาจากการขายสินค้าจำนวนเพียงเล็กน้อยให้กับลูกค้าหลายราย ซึ่งตัวอย่างธุรกิจค้าปลีกที่ทุกคนคุ้นเคย ก็คือร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ร้านโชห่วยหรือแม้แต่แผงลอยขายสินค้าบนฟุตบาท หากรายได้และกำไรส่วนมากของธุรกิจมาจากการขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าจำนวนมาก ธุรกิจนั้นก็ถือว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกทั้งสิ้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ขายสินค้าหรือบริการครั้งละจำนวนมาก ๆ ให้กับลูกค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อให้แก่ผู้บริโภครายย่อยอีกต่อหนึ่ง กล่าวคือ ธุรกิจค้าส่งเป็นกิจการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก โดยปกติมักมีปริมาณการซื้อขายจำนวนสินค้าครั้งละมาก ๆ เนื่องจากเป็นการขายเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้บริโภค หรือเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีความสำคัญมากในห่วงโซ่อุปทาน จะเห็นได้ว่าโรงงานที่ผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ๆ โดยส่วนมากแล้วจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตและเลือกที่จะไม่ใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการเข้าถึงลูกค้าผู้บริโภคโดยตรง ด้วยเหตุผลนี้แล้วจึงทำให้โรงงานผู้ผลิตมักจะมองหาตัวแทนจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ ที่สามารถช่วยกระจายสินค้าของโรงงานไปสู่ผู้บริโภค การทำแบบนี้ช่วยให้โรงงานสามารถจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการผลิตสินค้าของตนเองโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการขายและการกระจายสินค้า ยิ่งไปกว่านั้นการที่การกระจายสินค้าจากโรงงานให้เข้าถึงผู้บริโภคในประเทศทั้ง 77 จังหวัดไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นโรงงานผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศมีความจำเป็นต้องพึ่งพาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในการกระจายและขายสินค้า ในปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Modern Trade ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าส่งค้าปลีก ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต จากเดิมที่ธุรกิจค้าปลีกในไทยเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กที่จัดหาสินค้ามาจำหน่ายโดยซื้อผ่านตัวกลาง (ธุรกิจค้าส่ง) กลายมาเป็นร้านค้าปลีกที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ลดการพึ่งพาผู้ค้าส่งโดยทำการเข้าไปติดต่อซื้อสินค้าจากโรงงานหรือผู้นำเข้าโดยตรง และเนื่องด้วยผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่เป็นนายทุนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมากส่งผลให้กลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จึงมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ประกอบกับการบริหารจัดการร้านค้าอย่างเป็นระบบ มีระบบขนส่งเป็นของตนเองและบางรายมีศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัย ตลอดจนการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิต ผู้นำเข้าสินค้า และ ผู้บริโภค จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ มีอำนาจการต่อรองเหนือผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายมากขึ้นและอำนาจการต่อรองดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต จนเป็นเหตุให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายเล็กไม่สามารถต่อรองกับผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกได้นอกจากจะไม่สามารถต่อรองกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ได้ ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหลายรายยังถูกเรียกเก็บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกเก็บค่าแรกเข้าสินค้าใหม่ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการวางสินค้าพิเศษเพิ่มเติมจากที่ได้ระบุไว้ในสัญญาหรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มหรือการขอส่วนลดในวาระพิเศษที่ทางผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายได้ เป็นต้น ซึ่งการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแบบเกินสมควร และค่าธรรมเนียมที่มีอัตราไม่แน่นอนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างชัพพลายเออร์ จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันระหว่างซัพพลายเออร์ เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกิดเหตุจะกลายเป็นเครื่องมือของชัพพลายเออร์รายใหญ่ที่มีทุนหนานำมาใช้กีดกันซัพพลายเออร์รายเล็กที่มีเงินทุนน้อยทำให้ไม่สามารถเข้ามาแข่งขัยในตลาดได้ อีกทั้งยังทําให้ผู้ผลิตรายใหม่มีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูงมากขึ้น
Description: เอกัตศึกษา (ศศ.ม)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563
Degree Name: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: กฎหมายเศรษฐกิจ
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/77675
URI: http://doi.org/10.58837/CHULA.IS.2020.128
metadata.dc.identifier.DOI: 10.58837/CHULA.IS.2020.128
Type: Independent Study
Appears in Collections:Law - Independent Studies

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
6280197034.pdf1.86 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.