Abstract:
วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนซ่อมเสริมวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำระหว่างกลุ่มที่โรงเรียนโดยใช้ชุดการเรียนการสอนรายบุคคล กับ กลุ่มที่เรียนจากเพื่อน วิธีดำเนินการวิจัย ตัวอย่างประชากร เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์จำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มทดลองที่สอนซ่อมเสริมโดยเพื่อน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มควบคุมที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียนการสอนรายบุคคล แต่ละกลุ่มมีนักเรียนจำนวน 30 คน ทดสอบภาวะความแปรปรวนโดยใช้การทดสอบค่าเอฟ (F-test) และทดสอบค่าที (t-test) ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ (ค 013) ของทั้งสองกลุ่มพบว่าไม่แตกต่างกันที่ระดับความมีนัยสำคัญ 0.05 แสดงว่าพื้นฐานทางการเรียนคณิตศาสตร์ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ผู้วิจัยสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยชุดการเรียนการสอนรายบุคคลเรื่อง “จำนวนเชิงซ้อน” กับ “ลำดับและอนุกรม” ซึ่งมีประสิทธิภาพ 89.06/85.77 และ 87.41/90.00 ตามลำดับ และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้เอกสารแนะแนวทาง เรื่อง “จำนวนเชิงซ้อน” กับ “ลำดับและอนุกรม” ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับบัตรกิจกรรมและบัตรแบบฝึกหัดของชุดการเรียนการสอนรายบุคคลและแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนซ่อมเสริมวิชาคณิตศาสตร์ (ค 014) เรื่อง “จำนวนเชิงซ้อน” กับ “ลำดับและอนุกรม” ได้ค่าความเที่ยง 0.97 และ 0.95 ตามลำดับ ผู้วิจัยนำชุดการเรียนการสอนรายบุคคลและเอกสารแนะแนวทางไปใช้กับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทั้งสองกลุ่มเรียนซ่อมเสริมสัปดาห์ละ 1 คาบรวมทั้งหมด 12 คาบ หลังจากที่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเรียนซ่อมเสริมจบในแต่ละเรื่องแล้ว ให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มทำแบบสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนซ่อมเสริมวิชาคณิตศาสตร์ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ค่ามัชฌิมาเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที ผลการวิจัย ผลสัมฤทธิ์การเรียนซ่อมเสริมวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำของกลุ่มที่เรียนจากเพื่อน สูงกว่ากลุ่มที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียนการสอนรายบุคคลอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้