Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/25821
Title: รูปแบบของกิจกรรมโรงเรียนประถมศึกษา ที่จัดกิจกรรมดีเด่น
Other Titles: Activity patterns in the elementary schools with outstanding activities
Authors: สุรพล จิตต์อำไพ
Advisors: สมุน อมรวิวัฒน์
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย
Issue Date: 2527
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบของกิจกรรมโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมได้ดีเด่น 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจกรรมด้านการเรียนการสอน (2) กิจกรรมด้านการเกษตร (3) กิจกรรมด้านสหการ (4) กิจกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน (5) กิจกรรมด้านความสัมพันธ์กับชุมชน (6) กิจกรรมด้านการบริการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียน ตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 74 โรงเรียน ซึ่งได้จากการนำรายชื่อโรงเรียนผู้นำการใช้หลักสูตรโรงเรียนดีเด่นของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ โรงเรียนที่ได้รับการเสนอชื่อในเอกสาร สิ่งตีพิมพ์ทางการศึกษา รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและจากการสอบถาม สัมภาษณ์ผู้ทำหน้าที่นิเทศโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 485 โรงเรียนมาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้ (1) โรงเรียนที่ได้รับการประกาศให้เป็นทั้งโรงเรียนผู้นำการใช้หลักสูตรและโรงเรียนดีเด่น (2) โรงเรียนที่ได้รับการเสนอชื่อจากเอกสารสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (3) โรงเรียนที่ได้รับการเสนอชื่อจากผู้ที่ทำหน้าที่นิเทศโรงเรียน แล้วนำกิจกรรมดีเด่นของโรงเรียนที่คัดเลือก มาจัดเป็นกลุ่มรูปแบบกิจกรรมดีเด่น 6 ประเภท เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบบันทึกคุณสมบัติและกิจกรรมโรงเรียนประถมศึกษา ประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูล 3 ตอน คือ (1) สภาพทั่วไปของโรงเรียน (2) สภาพการบริหารและบริการของโรงเรียน (3) สภาพการจัดกิจกรรมตามลักษณะกิจกรรมดีเด่นของแต่ละกลุ่มรูปแบบ การเก็บรวบรวมข้อมูล แบ่งลักษณะการดำเนินการเป็น 2 ลักษณะ คือ (1) ผู้วิจัยดำเนินการศึกษาเฉพาะกรณีในโรงเรียนที่เป็นตัวแทนแต่ละกลุ่มรูปแบบ จำนวน 11 โรงเรียน โดยนำแบบบันทึกคุณสมบัติและกิจกรรมไปบันทึกข้อมูลด้วยตนเองในโรงเรียนเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ต่อโรงเรียน (2) โรงเรียนที่เหลือ จำนวน 63 โรงเรียน ผู้วิจัยจัดส่งแบบบันทึกคุณสมบัติและกิจกรรมให้ผู้ทำหน้าที่นิเทศโรงเรียน บันทึกข้อมูลแทนผู้วิจัย การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ผู้วิจัยใช้ข้อมูลและข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษาเฉพาะกรณีประมวลเข้ากับข้อมูลที่ได้จากแบบบันทึกฯที่ผู้บันทึกแทนผู้วิจัยตอบกลับมา แล้วนำเสนอโดยการบรรยายรูปแบบของแต่ละกิจกรรม ผลการวิจัย 1. รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่าเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นผู้เสนอแนะวิธีการให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้และฝึกปฏิบัติด้วยตัวของนักเรียนเอง ตามลักษณะเนื้อหาการเรียนรู้ หลักการสำคัญที่ทำให้โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดีเด่น ได้แก่ การจัดหาสื่อการเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามที่แผนการสอนและคู่มือครูเสนอแนะ 2. รูปแบบการจัดกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นเกลุ่มตัวอย่าง พบว่า จัดแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ (1) การมอบพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้นักเรียนนำไปปลูกและบำรุงรักษาที่บ้าน (2) โรงเรียนจัดพื้นที่หรือสถานที่ให้นักเรียนแต่ละคนหรือกลุ่มรับผิดชอบในการปลูกพืชผักหรือเลี้ยงสัตว์ 3. รูปแบบการจัดกิจกรรมสหการในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ริเริ่มในการจัดกิจกรรม โดยมีครูและนักเรียนร่วมมือในการลงทุน เป็นเงินหุ้น ๆ ละ 10-20 บาท ช่วยทำหน้าที่ซื้อขายสินค้า จัดตกแต่งและทำความสะอาดสถานที่ในการจัดสหการ หลักการสำคัญที่ทำให้โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมการเกษตรและสหการได้ดีเด่น ได้แก่การให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากกิจกรรม 4. รูปแบบกิจกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า โรงเรียนจัดกิจกรรมฝึกประชาธิปไตยแก่นักเรียน 3 แบบ คือ (1) การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย (2) กิจกรรมการปกครองโดยสภานักเรียน (3) กิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ส่งเสริมประชาธิปไตย หลักการสำคัญที่ทำให้โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยได้ดีเด่น ได้แก่การที่ครูเข้าใจหลักการประชาธิปไตย มีความอดทนในการฝึกให้นักเรียนมีวินัยและความรับผิดชอบในตนเองและกลุ่ม อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของประชาธิปไตย 5. รูปแบบกิจกรรมด้านความสัมพันธ์กับชุมชนในโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า โรงเรียนจัดกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ (1) กิจกรรมประชาสัมพันธ์โรงเรียน (2) กิจกรรมที่ชุมชนให้ความช่วยเหลือโรงเรียน (3) กิจกรรมที่โรงเรียนให้บริการต่อชุมชน หลักการสำคัญที่ทำให้การจัดกิจกรรมด้านความสัมพันธ์กับชุมชนได้ดีเด่น ได้แก่การที่โรงเรียนให้บริการแก่ชุมชนก่อน แล้วชุมชนจึงให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการตอบแทน 6. รูปแบบกิจกรรมบริการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนด้านห้องสมุด อาหารกลางวันและอนามัยโรงเรียนของโรงเรียนประถมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กิจกรรมบริการด้านห้องสมุด แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ (1) การบริการสถานที่อ่านหนังสือได้แก่ห้องสมุดและห้องสมุดเคลื่อนที่ (2) การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุด กิจกรรมบริการด้านอาหารกลางวัน ครูผู้สอนงานบ้านและนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ คือ การซื้ออาหารสด การปรุงอาหาร การจำหน่ายอาหารและการจัดเก็บทำความสะอาด กิจกรรมบริการด้านอนามัยโรงเรียน แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ (1) การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ (2) การจัดกิจกรรมป้องกันโรค (3) การจัดกิจกรรมรักษาพยาบาล (4) การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพอนามัยแก่นักเรียน หลักการสำคัญที่ทำให้โรงเรียนจัดกิจกรรมบริการเพื่อส่งเสริมพัฒนาของนักเรียนได้ดีเด่น ได้แก่ ความรับผิดชอบและความคิดริเริ่มของครูผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการค้นคว้าหาความรู้ โภชนาการและอนามัยในตนเอง และสามารถปฏิบัติได้จริง
Description: ยานิพนธ์ (ค.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527
Degree Name: ครุศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: ประถมศึกษา
URI: 9745635626
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/25821
ISBN: 9745635626
Type: Thesis
Appears in Collections:Grad - Theses

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Suraphol_Ch_front.pdf641.85 kBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch1.pdf1.34 MBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch2.pdf1.45 MBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch3.pdf834.69 kBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch4.pdf867.9 kBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch5.pdf1.02 MBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch6.pdf911.13 kBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch7.pdf1.1 MBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_ch8.pdf655.47 kBAdobe PDFView/Open
Suraphol_Ch_back.pdf2.28 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.