Abstract:
ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่ โดยมุ่งเน้น "คน" เป็นศูนย์กลางหรือจุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนา โดยให้ทุกคนในสังคมได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพ ทั้งร่างกายจิตใจและสติปัญญา ทิศทางการพัฒนาเมืองและระบบชุมชนจะมุ่งเน้นการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเมืองอย่างเป็นระบบให้เกิดความสมดุลของการพัฒนา เพื่อให้เมืองเติบโตอย่างเหมาะสมมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความเป็นระเบียบ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้ในการปรับปรุงระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลสภาพปัจจุบันด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ความพึงพอใจในที่อยู่อาศัยของผู้ใช้แรงงานความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคต ตลอดจนความช่วยเหลือภาครัฐต่างๆ เช่น มาตรฐานที่อยู่อาศัย การส่งเสริมการลงทุนการให้สินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อใช้ในการกำหนดตัวแปรต่างๆ ในระบบข้อมูล ในการศึกษาใช้กลุ่มตัวอย่าง 321 คนมีระดับรายได้ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือนต่อคน จากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้ใช้แรงงานมากกว่า 100 คน โดยแบ่งเฉลี่ยเป็น 3 แขวงในเขตบางขุนเทียนตามสัดส่วนของจำนวนผู้ใช้แรงงานในแต่ละแขวง จากการวิจัยพบว่า ลักษณะลูกจ้างแรงงานอยู่ในช่วงอายุประมาณ 20 ปี เป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ระดับการศึกษาค่อนข้างน้อยโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นผลให้มีระดับรายได้ที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งมีรายได้ประมาณ 5,225 บาท รายจ่ายประมาณ 3,000 บาท สภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยอยู่แฟลตหรือห้องเช่า ขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 15-20 ตารางเมตร จำนวนคนที่พักโดยเฉลี่ย 2 คน การใช้พื้นที่โดยเฉลี่ย 10 ตารางเมตรต่อคน สภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์พอยอมรับได้ ด้านสาธารณูปโภคก็ได้รับการแก้ไขไปบ้างเนื่องจากโดยส่วนใหญ่มีมิเตอร์ไฟฟ้า และประปาใช้แล้ว ไม่มีปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ การเดินทางโดยส่วนใหญ่ใช้วิธีการเดินไปทำงาน ในด้านความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคตพบว่ามีความต้องการพื้นที่ใช้สอยอย่างน้อยประมาณ 24.39 ตารางเมตรโดยแบ่งออกเป็นห้องนอนที่ 1 (ห้องนอนใหญ่), ห้องน้ำรวมที่อาบน้ำ, ห้องครัว และห้องนอนที่ 2 (สำหรับลูก) มีขนาดพื้นที่ใช้สอยต่ำกว่ามาตรฐานที่อยู่อาศัยที่ทางการเคหะแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมการลงทุนได้ระบุไว้ ซึ่งขนาดที่อยู่อาศัยที่ลดลงทำให้ราคาที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มลดลง เมื่อเฉลี่ยจากพื้นที่ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยจำนวนร้อยละ 40-50 มีโอกาสในการจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ โดยวิธีการกู้ร่วม แต่ทั้งนี้ทางภาครัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมในด้านวงเงินสินเชื่อ ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพิ่มสูงขึ้น และในกลุ่มที่ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านรายได้และราคาที่อยู่อาศัยไม่สามารถลดต่ำลงได้อีก วิธีที่จะแก้ไขคือยกระดับฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น ให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีรายได้โดยรวมนั้นเพิ่มมากขึ้น จนสามารถที่จะซื้อให้