Abstract:
ศึกษาวัฒนธรรมการบรรเลง ระเบียบวิธีการบรรเลง ระดับเสียงที่ใช้ในการบรรเลง ลักษณะการประพันธ์บทเพลงและรวบรวมบทเพลงในวัฒนธรรมดนตรีประจำถิ่นภาคเหนือของประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า วัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีในพื้นถิ่นภาคเหนือมีความหลากหลาย สามารถจำแนกออกเป็นวัฒนธรรมใหญ่ๆ 5 ประเภทได้แก่ 1. วัฒนธรรมการขับซอ ประกอบด้วยซอเชียงใหม่และซอน่าน 2. วัฒนธรรมการบรรเลงวงเครื่องสายล้านนาและการดีดพิณเปี๊ยะ 3. วัฒนธรรมการบรรเลงกลองล้านนา 4. วัฒนธรรมการบรรเลงวงปี่พาทย์พื้นเมืองหรือวงป้าด 5. วัฒนธรรมการบรรเลงวงดนตรีที่ประจำอยู่ ณ จังหวัดต่างๆ ได้แก่ วงตอยอฮอร์น จังหวัดแม่ฮ่องสอน วงมังคละ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ วงปี่พาทย์จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ แตรวง จังหวัดพิจิตร การร้องเพลงขอทาน จังหวัดสุโขทัย วงตุ๊บเก่ง และดนตรีประกอบการเล่นแมงตับเต่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ระดับเสียงของเครื่องดนตรีและวงดนตรีสำหรับวัฒนธรรมดนตรีภาคเหนือ มิได้มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ สามารถยืดหยุ่นหรือเล่นไปตามความถนัดได้ สำหรับวัฒนธรรมการขับซอ ทั้งซอเชียงใหม่และซอล่องน่าน พบกลุ่มเสียงปัญจมูล 3 กลุ่ม ได้แก่ ท ด ร X ฟ ซ X, ด ร ม X ซ ล X และ ฟ ซ ล X ด ร X นอกจากนี้ยังพบอีกว่านักดนตรีมิได้ให้ความสำคัญกับการประสานเสียงเสมอเหมือนกับการดำเนินทำนองและการควบคุมจังหวะ บทเพลงพื้นถิ่นภาคเหนือแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่เพลงที่เป็นเนื้อแท้และเพลงที่เป็นเนื้อสังเคราะห์ โดยเพลงที่เป็นเนื้อสังเคราะห์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เพลงที่นำเอาวิธีการบรรเลงแบบภาคกลางมาใช้ประกอบการบรรเลงและเพลงที่นำเอามาจากบทเพลงภาคกลางทั้งเพลงมาใช้บรรเลง ผลการวิจัยสามารถสรุปเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทยภาคเหนือได้ 2 ประการ ได้แก่ 1. เสียงของวงดนตรีประเภทต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะมีความอ่อนโยน สง่างาม อย่างดนตรีภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมดนตรีประเภทใด ล้วนแสดงเอกลักษณ์และอุปนิสัยของคนในพื้นถิ่นภาคเหนือที่มีความอ่อนโยนและนุ่มนวลอย่างชัดเจน 2. วัฒนธรรมดนตรีมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบรรเลงกลองล้านนาที่มีความชัดเจนในเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธ และวัฒนธรรมการบรรเลงทุกประเภทจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเพณี วิถีชีวิตของชาวล้านนาแทบทุกประเภท