Abstract:
การดำเนินการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทยภาคอีสานใต้และภาคกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการบรรเลง รวบรวมบทเพลงประจำถิ่นภาคอีสานใต้และภาคกลางอย่างเป็นรูปธรรมดนตรีไทย ผลการวิจัยพบว่า วัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทยภาคอีสานใต้พบว่า วัฒนธรรมทุกประเภทมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและมี 3 ขั้นตอนสำคัญได้แก่ การเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการไหว้ครู ส่วนกลางเป็นเนื้อหาหรือกิจกรรม จบด้วยการลาและอวยพร สามารถแบ่งเป็น 2กลุ่มใหญ่ด้วยกันได้แก่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและความบันเทิง วัฒนธรรมการบรรเลงมีความยืดหยุ่นไม่ตายตัว มีลักษณะของเพลงเนื้อเต็ม มีวิธีการบรรเลงที่เรียบง่าย วัฒนธรรมการบรรเลงเกือบทุกประเภทลักษณะร่วมกันคือมีความยาวของทำนองไม่มากนัก อาจกล่าวได้ว่าทำนองสั้นและจะมีการซ้ำทำนองไปมาโดยไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับเวลาและเนื้อร้องที่นำมาร้องประกอบกับทำนองนั้นๆ กลุ่มเสียงที่นำมาประกอบเป็นทำนองจะไม่มีการเปลี่ยนบันไดเสียงบ่อยครั้ง ยกเว้นดนตรีประกอบพิธีกรรมมะม้วด มีการเปลี่ยนบันไดเสียงที่หลากหลายและการดำเนินทำนองมีการเก็บผสมการสะบัดและขยี้ วัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีไทยภาคกลางพบว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละวัฒนธรรม ทั้งนี้มีผลมาจากอิทธิพลของพื้นที่ใกล้เคียง เชื้อสายดั้งเดิมของชุมชนและปัจจัยภายนอกที่มีผลทำให้ดนตรีปรากฏเพื่อตอบสนองกับชุมชนและพื้นถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การบรรเลงวงมโหรีไทยรามัญและการร้องเพลงรำภาข้าวสารจะเป็นวัฒนธรรมการร้องและบรรเลงของชาวมอญ ขั้นตอนการบรรเลงและระเบียบวิธีการบรรเลงก็มีความหลากหลายไปตามเนื้อหาแต่ละประเภท วัฒนธรรมการบรรเลงประเภทต่างๆ มักเริ่มต้นด้วยการไหว้ครูและจบด้วยการอวยพรและการลาเช่นเดียวกับวัฒนธรรมการบรรเลงของภาคอีสานใต้ อัตราความยาวของเนื้อหาของวัฒนธรรมเกือบทุกประเภทจะมีความยาวไม่มากนักและมักจะไม่จำกัดจำนวนเที่ยวในการร้องหรือบรรเลง จะมีการยืดหยุ่นไปตามเนื้อร้องที่นำมาร้องในแต่ละงานหรือแต่ละกิจกรรมที่นำวัฒนธรรมการบรรเลงเข้าไปเกี่ยวข้อง การขับร้องเพลงพื้นบ้านภาคกลางส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการร้องแบบที่เรียกว่า การร้องเพลงเนื้อเต็ม มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผีด้วยได้แก่วัฒนธรรมการร้องเพลงหัวไม้ จากการวิจัยพบว่า วัฒนธรรมหลายประเภทกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยเนื่องจากวัฒนธรรมหลายประเภทเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชุมชน เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นทำให้วัฒนธรรมหลายประเภทหายไปจากชุมชน