Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุ อาชีพ รายได้และการศึกษากับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ตลอดจนศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ความรู้และทัศนคติต่อการตรวจมะเร็งเต้านมกับการตรวจมะเร็งเต้านม รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความน่าเชื่อถือของสื่อกับความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังศึกษาช่องทางการเผยแพร่และเนื้อหาเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่สตรีต้องการ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 408 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย t-test, การวิเคราะห์ความแปรปรวน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ซึ่งประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ผลการวิจัยพบว่า 1. โทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่สตรีเปิดรับมากที่สุด สำหรับสื่อเฉพาะกิจพบว่าสตรีเปิดรับข่าวสารจากโปสเตอร์มากที่สุด และสื่อบุคคลพบว่าสตรีเปิดรับข่าวสารจากเพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงานมากที่สุด 2. สตรีที่มีอายุ อาชีพ รายได้และการศึกษาต่างกันมีการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมแตกต่างกัน 3. การตรวจมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการตรวจมะเร็งเต้านมและการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมจากสามี/เพื่อนชาย, ญาติพี่น้อง, เพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงาน และบุคลากรทางการแพทย์ 4. ความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์, นิตยสาร, บิดา/มารดา, ญาติพี่น้อง, เพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงาน และบุคลากรทางการแพทย์ มีความสัมพันธ์กับความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม 5. สตรีต้องการให้เผยแพร่โรคมะเร็งเต้านมทางโทรทัศน์มากที่สุด และต้องการทราบเรื่อง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด