Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาด้านวัฒนธรรมดนตรีของภาคอีสานใต้และภาคกลาง โดยการเก็บข้อมูลจากศิลปินดนตรีพื้นบ้านในเขตอีสานใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว ศรีสะเกษ อุบลราชธานีและจังหวัดนครราชสีมา และในภาคกลาง 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ฉะเชิงเทรา กาฐจนบุรี ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครนายก นนทบุรี อุทัยธานี และ กรุงเทพมหานคร จากการศึกษาพบว่า ดนตรีที่มีชื่อเสียงของภาคอีสานใต้ ได้แก่ วงกันตรึม วงมโหรีเขมร วงปี่พาทย์พื้นบ้านและวงมะม้วด ส่วนดนตรีประเภทหมอลำเป็นที่นิยมในจังหวัดอุบลราชธานีเพียงจังหวัดเดียว ในเขตภาคกลางมีดนตรีประเภทเพลงร้องเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่เพลงพื้นบ้านของชุมชนต่างๆเช่นเพลงพื้นบ้านท่าโพธิ์ของชาวตำบลท่าโพธิ์ จังหวัดอุทัยธานี หรือเพลงเหย่ย และเพลงร่อยพรรษาของจังหวัดกาญจนบุรี เพลงพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักในภาคกลางทั่วไปได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย เพลงหางเครื่อง เพลงกล่อมลูก เพลงปรบไก่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรำโทนและกลองยาวในบางพื้นที่ จังหวัดที่มีวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีแบบมอญ ได้แก่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีการร้องและบรรเลงเพลงทะแยมอญ จังหวัดที่มีวัฒนธรรมดนตรีลาว ได้แก่ จังหวัดนครนายกซึ่งมีการลำพวน เป็นต้น งานวิจัยค้นพบข้อสรุปของวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านในด้านพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้ดนตรีว่า มีการสืบทอดต่อไปจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งแบบมุขปาฐะ มีอิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการประกอบพิธีกรรม ศิลปินเป็นผู้ที่มีบทบาททั้งด้านการอนุรักษ์และการจัดการวัฒนธรรมซึ่งทำให้วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านยังคงมีความเข้มแข็งเช่นเดียวกับที่ผ่านมาในอดีต