Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสร้างเครื่องดนตรีในภาคอีสานใต้และภาคกลาง เพื่อทราบถึงกรรมวิธีการสร้างเครื่องดนตรีของช่างทำเครื่องดนตรีในแต่ละท้องถิ่น โดยมุ่งศึกษาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่และจะเข้ รวมถึงกลองที่เป็นนิยมในภาคอีสานใต้และภาคกลาง ได้แก่ กลองกันตรึมและกลองยาว จากการศึกษาถึงวิธีการสร้างกระจับปี่พบว่าช่างทำกระจับปี่ที่มีชื่อเสียง ๒ ท่าน มีกรรมวิธีที่แตกต่างกันโดยเฉพาะในเรื่องความทันสมัยของเครื่องมือ และวัสดุที่ใช้ในการขึ้นสาย ซึ่งส่งผลให้ได้คุณภาพเสียงกระจับปี่ที่มีความดังต่างกัน จากการศึกษาถึงวิธีการสร้างกลองกันตรึมพบว่าช่างทำกลองกันตรึมส่วนใหญ่มักเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่มักทำหุ่นกลองจากไม้และหนังด้วยหนังงูเหลือมยกเว้นกลองที่ใช้ในพิธีทรงแม่มดรักษาโรคนั้นต้องทำจากดินเผาและขึ้นหน้ากลองด้วยหนังตะกวดตามความเชื่อว่าจะทำให้พิธีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนกรรมวิธีการสร้างนั้นมีทั้งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย จากการศึกษาวิธีการสร้างจะเข้พบว่าช่างทำจะเข้ส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าของโรงงานทำเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้มีกรรมวิธีการสร้างและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ทว่าในบรรดาช่างทำจะเข้ทั้ง ๔ ท่านนั้นมีช่างทำจะเข้ท่านหนึ่งที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป โดยให้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษในขั้นตอนการตกแต่งเสียง ซึ่งอาศัยระยะเวลาในการผลิตค่อนข้างมากและเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างไปจากช่างท่านอื่น จากการศึกษาถึงวิธีการสร้างกลองยาวพบว่าอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นหมู่บ้านทำกลองที่มีช่างทำกลองอาศัยอยู่มากที่สุด ซึ่งช่างส่วนใหญ่ได้สืบทอดวิชาชีพการทำกลองยาวมาจากบรรพบุรุษ อีกทั้งพบช่างทำกลองยาวที่มีชื่อเสียงอยู่ในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทราอยู่บ้าง โดยช่างทำกลองยาวที่ผู้วิจัยทำการศึกษาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างทำผลิตกลองรายใหญ่ทำให้มีเครื่องมือและกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างทันสมัย ทว่ามีช่างบางท่านยังคงใช้เครื่องมือขนาดเล็ก บางท่านได้สั่งทำหุ่นกลองจากอำเภอป่าโมกมาขึ้นหน้าเอง และจากการศึกษาเรื่องวัสดุที่ใช้ในการทำกลองยาวพบว่าช่างส่วนใหญ่เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกันจะแตกต่างกันตรงที่ขนาดและรูปทรงของกลองซึ่งเป็นไปตามความชอบของช่างแต่ละท่าน