Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1) เพื่อศึกษาลักษณะวัฒนธรรมองค์การของหน่วยงานภาครัฐ 2) เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่กำหนดให้เกิดวัฒนธรรมองค์การดังกล่าว 3) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของผู้มีอำนาจในองค์การที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์การ และ 4) เพื่อทดสอบทฤษฎีแบบแผนทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมของชาร์ลส์ แฮนดี โดยผู้วิจัยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งที่เป็นหน่วยงานระดับกรม และมีลักษณะเป็นองค์การที่บริหารงานโดยผู้บริหารมาจากสายงานวิชาชีพเป็นหน่วยศึกษาวิเคราะห์ ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานว่า วัฒนธรรมองค์การของหน่วยงานราชการแห่งนี้มีวัฒนธรรมหลักเป็นวัฒนธรรมแบบดิออนีซุส เนื่องจากสายงานหลักส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นวิชาชีพนิยม ส่วนวัฒนธรรมย่อย เป็นวัฒนธรรมแบบอพอลโล เนื่องจากระบบงานของบทบาทหน้าที่ได้วางเงื่อนไขไว้แล้วอย่างเฉพาะเจาะจงใน “ใบพรรณนาหน้าที่งาน” และถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันโดยกฎระเบียบ ผู้วิจัยดำเนินการวิจัย โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้บริหารระดับสูง กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ของสายงานหลักและสายงานสนับสนุน จำนวนทั้งสิ้น 20 ราย และสังเกตพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ จนกระทั่งได้แบบแผนที่คล้ายกันจึงนำวัฒนธรรมที่ค้นพบไปทดสอบ โดยใช้แบบสอบถามสายงานหลัก จำนวน 50 ชุด และสายงานสนับสนุน จำนวน 50 ชุด เพื่อยืนยันข้อค้นพบด้วยกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ผลการวิจัยพบว่า 1) วัฒนธรรมองค์การของหน่วยงานราชการที่นำมาศึกษานี้ มีวัฒนธรรมหลักเป็นวัฒนธรรมแบบอพอลโลและวัฒนธรรมแบบซีอุส โดยมีวัฒนธรรมย่อยเป็นวัฒนธรรมแบบดิออนีซุส ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่กำหนดไว 2) ปัจจัยที่กำหนดวัฒนธรรมองค์การ คือ ปัจจัยด้านความเป็นส่วนราชการ ปัจจัยจากวัฒนธรรมของสังคมระดับชาติ และปัจจัยด้านผู้มีอำนาจในองค์การ 3) ผู้นำแบบบิดาปกครองบุตร (Paternalism) ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมองค์การแบบซีอุส ส่วนผู้นำแบบเน้นคนมากกว่างาน (Country club) ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมองค์การแบบดิออนีซุส 4) ทฤษฎีแบบแผนทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมของชาร์ลส์ แฮนดี สามารถอธิบายปรากฎการณ์และพฤติกรรมของคนในองค์การในประเทศไทยได้โดยภาพรวมเท่านั้น ข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ ผู้บริหารจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกสรรปัจเจกบุคคลให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์การ และต้องเปิดใจให้กว้างที่จะยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรมปัจเจกบุคคล โดยผู้บริหารสามารถใช้ปัจจัยที่กำหนดวัฒนธรรมองค์การเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์การที่พึงประสงค์ได้ ส่วนทางวิชาการควรมีการศึกษาแบบเดียวกันนี้ในองค์การที่มีผู้บริหารระดับสูงมาจากสายวิชาชีพอื่น เพื่อตรวจสอบความสามารถในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้ในองค์การประเภทอื่นต่อไป