Abstract:
วิเคราะห์สภาพการเรียนรู้ปัญหา ปัจจัยและเงื่อนไขสำหรับเครือข่ายทางสังคมในการจัดการจัดการเรียนรู้ และนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้สำหรับเครือข่ายทางสังคม เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชน พื้นที่ศึกษา ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคตะวันตก จังหวัดเพชรบุรี ภาคกลาง จังหวัดสมุทรปราการ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม มาสร้างเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย และใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถามวิเคราะห์สภาพการเรียนรู้ ปัญหา ปัจจัยและเงื่อนไขเพื่อยกร่างรูปแบบการเรียนรู้ จากกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด จำนวน 500 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มและการสังเกต ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาเด็กและเยาวชน พบว่า ขาดภูมิคุ้มกันทางสังคมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านยาเสพติด ด้านการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และด้านบริโภคนิยมจนเกินความจำเป็น แต่ละพื้นที่มีศักยภาพในการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางสังคม ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การรวมตัวเป็นเครือข่ายทางสังคม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และสมาชิกในครอบครัวสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ แต่ประสบปัญหาการจัดการเรียนรู้ด้านความตระหนัก ความจริงใจ มาตรการจัดการเรียนรู้ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ งบประมาณ และการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยเงื่อนไขการเรียนรู้มี 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายใน ประกอบด้วย เครือข่ายทางสังคมสำหรับเด็กซึ่งเป็นเครือข่ายที่ให้ทั้งความรู้และได้เรียนรู้ ระบบคลังความรู้ออนไลน์ของเครือข่ายทางสังคม ระบบการช่วยเหลือและให้คำแนะนำที่ง่ายต่อการเข้าถึง ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ภาครัฐสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้จากฐานวัฒนธรรมผสมผสานวิชาการสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น รูปแบบการเรียนรู้สำหรับเครือข่ายทางสังคมมีชื่อว่า “SPIDER LEARNING MODEL” ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1) องค์ประกอบของรูปแบบ 2) ขั้นตอนการเรียนรู้ 3) กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ 4) การจัดการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางสังคม สภาพการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้ผ่านรูปแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ 1) การปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายทางสังคม 2) ความตระหนักถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางสังคม 3) ฐานการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและวิชาการสมัยใหม่ 4) กลไกการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ ทั้งนี้ Nodes เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ และจะปรับเปลี่ยนสถานภาพตามหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1) วัตถุประสงค์ 2) เวลา 3) วิธีการเชื่อมโยง สำหรับการตรวจสอบรูปแบบการเรียนรู้ พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมในระดับมาก (4.22) และทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้ตามที่กลุ่มผู้ให้ข้อมูลพัฒนาขึ้น พบว่า รูปแบบการเรียนรู้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ให้มีภูมิคุ้มกันทางสังคมได้ตามเป้าหมายที่กำหนด