Abstract:
วัตถุประสงค์: ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบ การตีบของหลอดเลือดแดงภายในโพรงกะโหลกศีรษะ เป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองชาวเอเชีย เพื่อการศึกษาความแตกต่างของปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการตีบของหลอดเลือดแดงในตำแหน่งที่ต่างกัน ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบในคนไทย วิธีวิจัย: ผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะสมองขาดเลือดหรือ Transient ischemic attack หรือ Ocular stroke จะได้รับการตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูตำแหน่งของหลอดเลือดตีบ ผู้ที่มีหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดส่วนนอกโพรงกะโหลกศีรษะตีบมากกว่า 50% จัดเป็นกลุ่มหลอดเลือดแดงที่คอตีบ ส่วนผู้ที่มีหลอดเลือดแดงในสมองตีบมากกว่า 50% โดยไม่มีการตีบของอินเทอร์นอลคาโรติด จัดเป็นกลุ่มหลอดเลือดแดงในสมองตีบ แล้วนำปัจจัยเสี่ยงมาเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม โดยใช้วิธี การทางสถิติ ผลการวิจัย: จากผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ 432 คน มีกลุ่มหลอดเลือดแดงในสมองตีบ 90 คน กลุ่มหลอดเลือดแดงที่คอตีบ 64 คน พบว่ากลุ่มหลอดเลือดแดงที่คอตีบมีอายุมากกว่า ส่วนเพศ, ความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, ภาวะไขมันในเลือดสูง, การสูบบุหรี่และดื่มสุรา ไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบโรคเบาหวานในกลุ่มหลอดเลือดแดงในสมองตีบมากกว่าหลอดเลือดแดงที่คอตีบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.007) รวมทั้งมีระดับ triglyceride สูงกว่าด้วย (P = 0.033) ในผู้ป่วยชายยังพบว่าความยาวคอสั้นมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยกลุ่มหลอดเลือดแดงที่คอตีบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.001) สรุป: โรคเบาหวานพบบ่อยในกลุ่มการตีบของหลอดเลือดแดงใหญ่ในสมองมากกว่าผู้ที่มีการตีบของหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดบริเวณคออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในผู้ป่วยชายพบว่าความยาวคอสั้นมีความสัมพันธ์กับหลอดเลือดแดงที่คอตีบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ