Abstract:
บทนำ:การทราบถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงทางโรคหัวใจและหลอดเลือด อันได้แก่ ความแข็งของหลอดเลือดและความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด มีส่วนสำคัญต่อการทำนายการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบในอนาคต
วัตถุประสงค์ :เพื่อศึกษาความแตกต่างของความแข็งของหลอดเลือด และการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดชนิดหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองมีการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมองเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยอื่นๆกับความแข็งของหลอดเลือดแดงและการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด
วัสดุและวิธีการ : ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดชนิดหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองพบลักษณะการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมอง 20 ราย ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2555 ถึง เดือน กันยายน 2556 และกลุ่มประชากรที่ไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง(กลุ่มควบคุม) 20 ราย โดยอายุและเพศของทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดแดงโดยการวัดค่า Carotid Femoral-Pulse Wave Velocity (CF-PWV) ด้วยเครื่อง Sphymocor apparatus และตรวจการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดโดยการวัด Reactive Hyperemia Index (RHI) ด้วยเครื่อง Endopat 2000
ผลการศึกษา : CF-PWV ของทั้ง 2 กลุ่มการศึกษามีความแตกต่างกัน (10.53±2.35 ม./วินาที และ 7.73±1.43 ม./วินาที ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองพบลักษณะการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมองและกลุ่มควบคุม ตามลำดับ , p<0.001 ) ในทางตรงกันข้ามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างค่า RHI ของทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์การถดถอยแบบเส้นตรงพหุคูณเบื้องต้นพบว่าการเป็นโรคหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองพบลักษณะการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมองและดัชนีมวลกายอาจเป็นปัจจัยพยากรณ์ความแข็งของหลอดเลือดแดงและจากการวิเคราะห์การถดถอยแบบโลจิสติกเบื้องต้นพบว่า CF-PWV อาจเป็นปัจจัยพยากรณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองพบลักษณะการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมอง
สรุป : ความแข็งของหลอดเลือดแดงมากขึ้นอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขนาดเล็กตีบในระยะเฉียบพลันที่ภาพถ่ายรังสีสมองพบลักษณะการฝ่อของเนื้อสมองสีขาวใต้ผิวสมองและดัชนีมวลกายที่มากขึ้นอาจเป็นปัจจัยพยากรณ์ความแข็งของหลอดเลือดที่มากขึ้น