Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและตรวจสอบโมเดลเชิงสาเหตุอิงทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนของพฤติกรรม การสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นอย่างไร 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลระหว่างตัวแปรเชิงสาเหตุต่อเจตนาเชิงพฤติกรรม และพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยแยกเป็น 3 ด้านคือ 2.1 เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของเจตคติต่อพฤติกรรม การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง และการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม ส่งผ่านเจตนาเชิงพฤติกรรม ต่อพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย 2.2 เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรงของการรับรู้การควบคุมพฤติกรรมและเจตนาเชิงพฤติกรรม ต่อพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และ 2.3 เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของตัวแปรลักษณะข้าราชการ 3 ตัวแปร ได้แก่ ความดึงดูดของเงินเดือนใหม่ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ เจตคติต่อการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของตนเอง และระยะเวลาปฏิบัติงานที่เหลืออยู่ก่อนครบเกษียณอายุราชการ ที่มีต่อเจตนาเชิงพฤติกรรมและพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 332 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นมาตรจำแนกความหมาย มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาตั้งแต่ .80 ถึง .96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าสถิติเบื้องต้น การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์โมเดลลิสเรล
ผลการวิจัยพบว่า โมเดลเชิงสาเหตุอิงทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนของพฤติกรรม การสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (X² = 18.15, df = 10, p = .052, RMSEA = .050, GFI = .988, AGFI = .946) โมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยได้ 17% ซึ่งตัวแปรพฤติกรรมการสมัครเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรเจตนาเชิงพฤติกรรม และการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม ความดึงดูดของเงินเดือนใหม่ ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ และเจตคติต่อการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของตนเอง โดยส่งผ่านตัวแปรเจตนาเชิงพฤติกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ