Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเจียรวนนท์กับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และผลประโยชน์ทับซ้อนที่กลุ่มนี้จะได้รับจากนโยบายความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) การวิจัยได้ใช้แนวคิดและทฤษฎีคือ หนึ่ง แนวคิดเรื่อง โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและลัทธิเสรีนิยมใหม่ สอง ทฤษฎีทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐและทุนนิยมแบบพวกพ้อง และสาม แนวคิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกกลุ่ม FTA Watch ผลการศึกษาพบว่าภายใต้นโยบาย JTEPA ก่อให้เกิดการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ของสาธารณะที่ต้องเสียไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในพรรคซึ่งก็คือกลุ่มเจียรวนนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี ศักยภาพ โอกาสและอำนาจในภาครัฐ ทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการค้าคือ หนึ่ง สินค้าไก่ สอง สินค้ากุ้ง สาม ผลไม้ และสี่ ช่องทางในการสร้างแบรนด์ CP ในตลาดญี่ปุ่น ที่จะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่กลุ่มนี้ ส่วนผลประโยชน์ของสาธารณะที่ต้องเสียไปก็คือ หนึ่ง สินค้าข้าว ที่รัฐบาลยอมถอนสินค้าข้าวออกจากการเจรจาเพื่อแลกกับการส่งออกสินค้าไก่ กุ้งและอาหารแปรรูป สอง การเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าขยะพิษเข้ามาในไทย สาม สิทธิบัตรจุลชีพที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นเจ้าของสารพันธุกรรมที่มีถิ่นกำเนิดในไทย โดยรวมนอกจากผลประโยชน์สาธารณะที่เป็นรูปธรรมที่สูญเสียไปแล้ว นโยบาย JTEPA ยังอาจส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขของไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่แลกกับผลประโยชน์ที่กลุ่มเจียรวนนท์ได้รับ