Abstract:
ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบอำนาจในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญว่ามี คำวินิจฉัยใดที่มิได้เป็นไปตามหลักกฎหมายมหาชน อันเป็นหลักสากลที่ยอมรับกันในอารยประเทศ และส่งผลกระทบต่อหลักกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะหลักการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจ และหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบที่เกิดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหลักกฎหมายมหาชนเป็นอย่างมาก ต่อหลักการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
1) เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีแหล่งที่มาที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตย และมีบทบัญญัติหลายส่วนไม่สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตย และหลักกฎหมายมหาชน การปรับบทบัญญัติกับคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเพียงยืนยันว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาจไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและหลักกฎหมายมหาชน จึงควรยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสามารถนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งส่วนมากมีความสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักกฎหมายมหาชนดีแล้วมาเป็นฐาน 2) ควรเพิ่มจำนวนตุลาการรัฐธรรมนูญด้านรัฐศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้การพิจารณาคดีที่เกี่ยวด้วยการเมือง เป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมมากยิ่งขึ้น 3) ควรมีรายงานผลการวินิจฉัยคดีประจำปีต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาได้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ กระบวนการพิจารณาและผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 4) จากปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายที่เบี่ยงไปจากทฤษฎีหลักการใช้ และการตีความกฎหมายมหาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะนิติศาสตร์ทุกสถาบัน ควรจะให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ทฤษฎีหลักการใช้และการตีความกฎหมายมหาชน เพราะผลกระทบที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลมีกว้างขวาง