Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบระหว่างศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่ามีปัญหาอุปสรรค และมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จากการศึกษาพบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีองค์ประกอบของผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก จึงมีโอกาสมากที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาจะได้รับเลือกเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาหลากหลายทำให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ง่าย วุฒิสภาล้มเหลวในการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายบริหารแทรกแซงการสรรหาได้ทั้งกระบวนการ เกิดปัญหาความเป็นอิสระและเป็นกลางในการทำหน้าที่ ผลจากการวิจัยจึงได้เสนอให้ รัฐสภามีบทบาทในการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชน และปรับลดจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระ เป็นกลางและหลากหลายมากขึ้น ปรับคุณสมบัติของผู้พิพากษาศาลฎีกากำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาจากการคัดเลือกของประชาชนหรือตัวแทนของประชาชน การมีส่วนร่วมของตุลาการในการคัดเลือกตัวแทนยังคงมีอยู่แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบ เช่น เพียงให้ข้อคิดเห็นหรือให้คำปรึกษา กำหนดให้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจำกัดเฉพาะ การรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น