Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและหาแนวทางในการปรับปรุงการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทางสื่อโทรทัศน์ เปรียบเทียบระหว่างสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ศึกษาเนื้อหาภาพยนตร์ที่ถูกตรวจพิจารณา และศึกษาทัศนคติของภาครัฐ ฝ่ายตรวจพิจารณา และภาคประชาชนที่มีต่อการตรวจพิจารณา โดยใช้วิธีการวิจัย ได้แก่ การเข้าร่วมสังเกตการณ์ การวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์ตัวบท การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการจัดกลุ่มสนทนา ผลการวิจัยพบว่า การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทางสื่อโทรทัศน์ ทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ต่างถูกควบคุมโดยภาครัฐซึ่งออกกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเพื่อกำกับดูแลสถานีโทรทัศน์ แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการตรวจพิจารณา ได้แก่ ประเภทของภาพยนตร์ที่นำมาตรวจพิจารณาเพื่อออกอากาศและระบบการตรวจพิจารณา อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการตรวจพิจารณา ได้แก่ ปัจจัยภายในองค์กร ปัจจัยภายนอกองค์กร และปัจจัยเรื่องการข้ามสื่อ สำหรับเนื้อหาภาพยนตร์ที่ถูกตรวจพิจารณาสามารถแบ่งเนื้อหาที่มีความรุนแรงได้ 5 ประเภท คือ เนื้อหาที่มีความรุนแรงด้านเพศ เนื้อหาที่มีความรุนแรงด้านภาษา เนื้อหาที่มีความรุนแรงด้านพฤติกรรม เนื้อหาที่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และเนื้อหาที่มีความรุนแรงอื่นๆ ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ ฝ่ายตรวจพิจารณาและภาคประชาชน ที่มีต่อการตรวจพิจารณาในเรื่องของบทบาทการมีส่วนร่วม การควบคุม และผลประโยชน์ ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกันทั้งสามภาคส่วน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้