Abstract:
การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบให้ก่อนสัมผัสโรคในบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 เข็ม ในวันที่ 0, 7 และ 28 ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรคพิษสุนัขบ้า บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะเด็กก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสโรค การให้วัคซีนวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากวัคซีนมีราคาแพง การนำวัคซีนมาผสมกันอาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลและประหยัด ทำให้มีโอกาสได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น การทำวิจัยนี้เพื่อศึกษาถึงการตอบสนองของแอนติบอดี ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อการฉีดวัคซีนผสมระหว่างวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่มีอลูมิเนียมและวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเซลล์เพาะเลี้ยงในการฉีดวัคซีนแบบให้ก่อนสัมผัสโรคชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม (เฉพาะเข็มแรกเท่านั้นที่เป็นวัคซีนผสม) นิสิตคณะสัตวแพทย์จำนวน 27 คน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเซลล์เพาะเลี้ยง (purified vero rabies vaccine : PVRV) เข้ากล้ามเนื้อต้นแขนในวันที่ 0 และ 28 โดยเข็มแรกผสม PVRV ละลายใน aluminium hydroxide-adsorbed tetanus toxoid. การตรวจเลือดหา rabies nentralizing antibody (Nab) titers ด้วยวิธี rapid fluorescent focus inhibition test ทำในวันที่ 0, 28 และ 42 จากการตรวจระดับแอนติบอดีของนิสิตทุกคนในวันที่ 28 และ 42 พบว่ามีค่าสูงเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Nab>0.5 IU/ml) ทุกคน และค่าเฉลี่ยของระดับแอนติบอดีในวันที่ 42 (เท่ากับ 17.49 IU/ml) มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับแอนติบอดีที่ใช้ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นรุนแรงหลังได้รับวัคซีน จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเซลล์เพาะเลี้ยง (PVRV) เข้ากล้ามเนื้อในวันที่ 0 และ 28 โดยเข็มแรกผสม PVRV ละลายใน aluminium bydroxide-adsosbed tetanus toxoid เป็นวิธีที่ปลอดภัยและประหยัดวิธีหนึ่งสำหรับการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบบให้ก่อนสัมผัสโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา