Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในสตรีวัยรุ่นกับการเห็นคุณค่าในตนเอง ความเมตตากรุณาต่อตนเอง ค่าดัชนีมวลกาย การประเมินตนเสมือนวัตถุด้านต่างๆ โดยกลุ่มตัวอย่างคือนิสิตนักศึกษาสตรีที่มีอายุระหว่าง 18-23 ปี จำนวน 327 คน ใช้เครื่องมือวัดในการวิจัย 4 ฉบับ ได้แก่ มาตรวัดความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกาย มาตรวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง มาตรวัดความเมตตากรุณาต่อตนเอง มาตรวัดการประเมินตนเสมือนวัตถุในมาตรย่อยด้านการเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง ด้านความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง และด้านความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีหาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยวิธีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และวิธีการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่ศึกษามีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ
1. ความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายมีความสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเองในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 [r(327) = .44, p ˂ .001] 2. ความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายมีความสัมพันธ์กับความเมตตากรุณาต่อตนเองในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 [r(327) = .29, p ˂ .001] 3. ความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายมีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย ในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 [r(327) = -.19, p ˂ .001] 4. องค์ประกอบย่อยของการประเมินตนเสมือนวัตถุด้านการเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองและความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองนั้นมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 [r(327) = -.35, p ˂ .001] และ r(327) = -.32, p ˂ .001] ตามลำดับ ในขณะที่ความสัมพันธ์ที่ความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองมีกับความพึงพอใจนี้เป็นไปในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [r(327) = .11, p ˂ .05] 5. เมื่อพิจารณาร่วมกันโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ด้วยวิธีการใส่ตัวแปรอิสระทั้งหมดเข้าไปในสมการ (Enter method) นั้น พบว่าตัวแปรเหล่านี้ร่วมกันพยากรณ์ความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายได้ร้อยละ 31 (R² = .31 , p ˂ .001)