Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบวิธีการทดสอบการแจกแจงแบบปกติเชิงพหุ พิจารณาจากความสามารถในการควบคุมความน่าจะเป็นของการเกิดความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 และกำลังการทดสอบของวิธีการทดสอบ 3 วิธี คือ วิธีการทดสอบซาพิโรและวิลค์ของมัดโฮลการ์ – ศรีวาสทาวา – ลิน (WF) วิธีการทดสอบเฮนซ์ – เซอร์เคลอร์ (HZ) และวิธีการทดสอบดัดแปลงจากวิธีการของมาร์เดียและซาพิโรและวิลค์ที่พัฒนาขึ้นโดยกุศยา (2546) โดยใช้การแจกแจงแบบปกติเชิงพหุ การแจกแจงแบบสติวเดนท์-ทีเชิงพหุ และการแจกแจงแบบโคชีเชิงพหุ ขนาดตัวอย่าง 25, 50,100 และ 150 และจำนวนตัวแปรที่ศึกษา 3 และ 5 ตัวแปร ที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 0.3 และ 0.7 และค่าความแปรปรวนเท่ากันและไม่เท่ากัน ที่ระดับนัยสำคัญของการทดสอบ 0.01, 0.05 และ 0.10 ทำการทดสอบซ้ำ 5,000 รอบ ผลการวิจัยพบว่า
วิธีการทดสอบซาพิโรและวิลค์ของมัดโฮลการ์ – ศรีวาสทาวา – ลิน (WF) วิธีการทดสอบเฮนซ์ – เซอร์เคลอร์ (HZ) และวิธีการทดสอบดัดแปลงจากวิธีการของมาร์เดียและซาพิโรและวิลค์พัฒนาขึ้นโดยกุศยา (2546) สามารถควบคุมความน่าจะเป็นของการเกิดความคลาดเคลื่อนประเภทที่ 1 ได้ทุกกรณีของการทดสอบ
กรณีขนาดตัวอย่าง 25 และ 50 วิธีการทดสอบซาพิโรและวิลค์ของมัดโฮลการ์ – ศรีวาสทาวา – ลิน (WF) มีค่ากำลังการทดสอบสูงที่สุด รองลงมาเป็นวิธีการทดสอบดัดแปลงจากวิธีการของมาร์เดียและซาพิโรและวิลค์พัฒนาขึ้นโดยกุศยา (2546) และวิธีการทดสอบเฮนซ์ – เซอร์เคลอร์ (HZ) ตามลำดับ ส่วนกรณีขนาดตัวอย่าง 100 และ 150 วิธีการทดสอบเฮนซ์ – เซอร์เคลอร์ (HZ) มีค่ากำลังการทดสอบสูงที่สุด รองลงมาเป็นวิธีการทดสอบดัดแปลงจากวิธีการของมาร์เดียและซาพิโรและวิลค์พัฒนาขึ้นโดยกุศยา (2546) และวิธีการทดสอบซาพิโรและวิลค์ของมัดโฮลการ์ – ศรีวาสทาวา – ลิน (WF) ตามลำดับทุกกรณีของการทดสอบ