Abstract:
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาหาขอบเขตสภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพ รวมถึงแนวทางการออกแบบและแก้ไขสำหรับผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในประเทศไทย การวิจัยนี้ประกอบไปด้วยการศึกษาทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพของผู้สูงอายุทั่วโลกและงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเพื่อนำมาเป็นข้อมูลตั้งต้นในการศึกษา ต่อมา เริ่มทำการศึกษาและวิจัยภาคสนามโดยใช้วิธีเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ซึ่งความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 5% โดยสถานที่จัดเก็บกลุ่มตัวอย่างอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ พื้นที่ใช้งานสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักอาศัยและ พื้นที่ส่วนกลางของบ้านพักผู้สูงอายุสวางคนิเวศ สถานฟื้นฟูคนชราบางเขน ส่วนดูแลคนชราโรงพยาบาลมูลนิธิเทียนฟ้า และ ส่วนดูแลผู้สูงอายุโรงพยาบาลกว๋องสิว จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าปัจจุบันผู้สูงอายุมีอายุที่ยืนยาวขึ้นและมีแนวโน้มสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปของผู้สูงอายุส่งผลให้การรับรู้ต่อสภาวะอากาศย่อมเปลี่ยนไป สำหรับผู้สูงอายุในเขตอบอุ่นอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 26°C แต่จากการเก็บขอมูลด้วยแบบสอบถามและเครื่องมือวัดความเร็วลม ความชื้น อุณหภูมิอากาศ และค่าการแผ่รังสีความร้อนพบว่าผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราประเทศไทยต้องการอุณหภูมิ 27.10 – 31.40 °C ซึ่งอุ่นกว่าที่ผู้สูงอายุในเขตหนาต้องการและยังพบว่าผู้สูงอายุในไทยมีความพึงพอใจต่อสภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพที่ต่างไปจากคนไทยทั่วไปที่ได้รับการศึกษาโดย J.F. Busch (1990) และมาตรฐาน PMV ซึ่งจาก การเก็บข้อมูลพบว่านอกจากปัจจัยด้ายกายภาพยังมาจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่น้อยชิ้นกว่าคนทั่วไปและกิจกรรมที่ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราทำส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมออกแรงไม่มาก ผู้สูงอายุไทยที่อาศัยในบ้านพักคนชราต้องการอุณหภูมิไต้ที่อุ่นกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย อีกทั้งค่อนข้างรู้สึกหนาวง่าย ต้องการอากาศที่ชื้นกว่าและต้องการความเร็วลมที่มากกว่าคนทั่วไป