Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาโมเดลเชิงสาเหตุความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจและการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้านอาชีพ (แบบสนับสนุน แบบก้าวก่าย และแบบขาดการมีส่วนร่วม) เป็นตัวแปรต้น และมีการรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 594 คน (ชาย 302 คน หญิง 292 คน) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1)มาตรวัดการรับรู้พฤติกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้านอาชีพ (2)มาตรวัดการรับรู้ความสามารถของตนด้านอาชีพ (3)มาตรวัดความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจสู่เป้าหมายอาชีพ และ(4)มาตรวัดความสอดคล้องในตนด้านการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพ เก็บข้อมูลโดยให้นักเรียนตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสมการโครงสร้างโดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิจัยพบว่า โมเดลเชิงสาเหตุความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจและการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้านอาชีพ (แบบสนับสนุน แบบก้าวก่าย และแบบขาดการมีส่วนร่วม) เป็นตัวแปรต้น และมีการรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพเป็นตัวแปรส่งผ่านโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2=5.31 df = 4, p =.257 , GFI = 1.00, AGFI = .98, RMSEA = .023, CFI = 1.00) ตัวแปรทั้งหมดในสมการอธิบาย ความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจ และด้านการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพร้อยละ32 และ35 (R2 = .32 และ .35, p< .01) ตามลำดับ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้านอาชีพแบบสนับสนุน เป็นด้านเดียวที่มีทั้งอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจ (อิทธิพลตรงทางลบ) และการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพ (อิทธิพลตรงทางบวก) โดยอิทธิพลทางอ้อมผ่านการรับรู้ความสามารถของตนด้านอาชีพ สำหรับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้านอาชีพ แบบก้าวก่าย และแบบขาดการมีส่วนร่วม มีเฉพาะอิทธิพลทางอ้อมผ่านการรับรู้ความสามารถของตนด้านอาชีพต่อ ต่อความสอดคล้องในตนด้านแรงจูงใจและการมีเป้าหมายสู่เส้นทางอาชีพ