Abstract:
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นสัญญาที่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้แน่ชัด อีกทั้งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นสัญญาที่เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินซึ่งมีอำนาจในทางเศรษฐกิจ สร้างเงื่อนไขอันไม่เป็นธรรมเพื่อเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายในการกำหนดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมขึ้น แม้ในปัจจุบันมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้เขียนมุ่งศึกษาความเป็นมาของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แนวความคิดพื้นฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และปัญหาสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ไม่เป็นธรรมในประเทศไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น พบว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีที่มาจากการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในสหราชอาญาจักร ซึ่งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่เพียงแต่เป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ยังเป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคด้วย ซึ่งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีกฎหมายที่มีการควบคุมเรื่องสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาทางการเงินอย่างเคร่งครัด ส่วนประเทศญี่ปุ่นแม้จะไม่มีกฎหมายโดยตรงแต่มีการแบ่งแยกการใช้กฎหมายแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างชัดเจน และมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่เป็นระบบ แต่เนื่องจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นสัญญาที่ผูกติดอยู่กับบัญชีเงินฝากธนาคาร ทำให้ผู้ให้สินเชื่อคือสถาบันการเงินซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าในทางเศรษฐกิจ สร้างเงื่อนไขให้มีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชีที่แฝงอยู่ในสัญญาทางการเงินหลายประเภท ทำให้มีปัญหาเรื่องการตีความสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องลักษณะทางกฎหมายของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ไม่มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาทางการเงินมีมาตรการคุ้มครองที่น้อยเกินไปและไม่สามารถคุ้มครองในเรื่องสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ ผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ คือ ออกมาตรการทางกฎหมาย โดยออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน รวมทั้งขอเสนอให้ยกเลิกดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่ให้มีข้อตกลงนี้เฉพาะสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และธนาคารต้องนำสืบหากจะมีการอ้างประเพณีธนาคาร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจน้อยกว่าให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการทำสัญญา