Abstract:
งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงอันเนื่องมาจากนโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีต่อการลงทุน โดยจะใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี พ.ศ. 2554-2556 ซึ่งอยู่ในรูปแบบของข้อมูลช่วงยาว (Panel Data) ในระดับบริษัท (Firm-Level) และนำมาทำการคำนวณภาระภาษีด้วยวิธีอัตราภาระภาษีเฉลี่ย (Average Effective Tax Rate) นอกจากนี้ยังใช้วิธีการทางเศรษฐมิติเพื่อประมาณค่าด้วยวิธีต่างๆ อาทิเช่น Pooled OLS Regression, Three Time Periods First Differenced Panel Data, Fixed Effects Estimation และ Random Effects Estimation เพื่อนำมาเปรียบเทียบและหาวิธีการประมาณค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแบบจำลองและชุดข้อมูลโดยใช้การทดสอบต่างๆ อาทิเช่น การทดสอบ Breusch-Pagan Lagrange Multiplier, การทดสอบ F-test, การทดสอบ Hausman และการทดสอบ Serial Correlation อีกทั้งยังทำการทดสอบการเกิดปัญหาความแปรปรวนของค่าความคลาดเคลื่อนไม่คงที่ (Heteroskedasticity) ของข้อมูลด้วย จากการศึกษาพบว่า อัตราภาระภาษีเฉลี่ยที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในการลงทุนของบริษัท โดยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ช่วยให้บริษัทมีการลงทุนมากขึ้น แต่การดำเนินนโยบายควรจะมีการประกาศก่อนเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร เพื่อให้บริษัทสามารถปรับแผนการลงทุนได้ทันท่วงที มิเช่นนั้นบริษัทที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ก็จะได้รับประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากได้สูญเสียศักยภาพในการลงทุนไปแล้ว และขณะดำเนินการก็ควรลดอัตราภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใต้ระยะเวลาพอควร มิเช่นนั้นจะเป็นการบิดเบือนพฤติกรรมในการลงทุนโดยบริษัทจะรอคอยจนกว่าอัตราภาษีได้ลดลงจนต่ำที่สุดก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มลงทุนแทน สุดท้ายควรสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทต่างๆด้วยการออกเป็นพระราชบัญญัติที่มีความแน่นอนกว่าพระราชกฤษฎีกาที่มีผลเพียงแค่ปีต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริษัทมั่นใจได้ว่านโยบายนี้จะถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใช้วิธีค่อยๆปรับแผนการลงทุนแทนที่จะปรับอย่างรวดเร็วเนื่องจากคิดว่าเป็นนโยบายเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งจะไปบิดเบือนพฤติกรรมในการจัดหาเงินทุนโดยบริษัทจะนำเงินกู้ในระยะสั้นที่มีต้นทุนสูงกว่าไปลงทุนในระยะยาวด้วย