Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มุ่งศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครอง กลวิธีการเผชิญปัญหา และความพึงพอใจในชีวิต เพื่อศึกษาว่าแต่ละตัวแปรมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตอย่างไร และสามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ โดยศึกษาในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี จำนวน 184 คน อายุตั้งแต่ 18-22 ปี ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการแจกแบบวัดการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองของบุตร (α = .925) แบบวัดกลวิธีการเผชิญปัญหา (α รายกลุ่มพฤติกรรม > .70) แบบวัดความพึงพอใจในชีวิต (α = .80) และแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปแก่กลุ่มตัวอย่าง จากนั้นนำข้อมูลไปวิเคราะห์โดยใช้สถิติสหสัมพันธ์ทางสถิติแบบเพียร์สัน (Pearson-product moment correlation coefficient) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ด้วยวิธีใส่ตัวแปรอิสระเข้าสมการทุกตัวพร้อมกัน (Enter) ตามกรอบแนวคิดการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง [r(182) = .195, p < .01, หนึ่งหาง] กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม [r(182) = .167, p < .05, หนึ่งหาง] และกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการวางแผน [r(182) = .144, p < .05, หนึ่งหาง] มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในทางตรงกันข้ามการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองของบุตร [r(182) = -.348, p < .01, หนึ่งหาง] และกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการหมกมุ่นในอารมณ์ [r(182) = -.334, p < .01, หนึ่งหาง] มีสหสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองของบุตร(β = -.243, p < .01) กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีปัญหา (β = .193, p < .05) กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม (β = .200, p < .01) และกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการหมกมุ่นในอารมณ์ (β = -.351, p < .001) สามารถร่วมกันทำนายความพึงพอใจในชีวิตได้ อย่างไรก็ตามพบว่ากลวิธีการเผชิญปัญหาแบบการหมกมุ่นในอารมณ์มีอำนาจในการทำนายความพึงพอใจในชีวิตสูงที่สุด โดยมีการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองของบุตรมีคะแนนรองลงมา
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2014