Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของรูปร่างในอุดมคติจากสื่อออนไลน์ได้แก่ Facebook (FB) และ Instagram (IG) ที่ส่งผลต่อค่านิยมทางวัตถุ และเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายที่มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของรูปร่างในอุดมคติจากสื่อออนไลน์ ได้แก่ FB และ IG ที่ส่งผลต่อค่านิยมทางวัตถุ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 239 คน ได้แก่ บุคคลในเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ 93 คน เพศชาย 36 คน เพศหญิง 57 คนและเจนเนอเรชั่นวาย 146 คน เพศชาย 66 คน เพศหญิง 79 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ มาตรวัดค่านิยมทางวัตถุ (α = .885) และมาตรวัดรูปร่างในอุดมคติ (α = .955) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์ค่าน้ำหนักองค์ประกอบของข้อกระทง, การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติพื้นฐานของตัวแปร, วิเคราะห์การถดถอยอย่างง่าย, การเปรียบเทียบค่า b จากสมการของ Cohen, Cohen, West และ Akien (2003) และหาค่า Z หรือคะแนนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1. ในเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ รูปร่างในอุดมคติซึ่งได้รับอิทธิพลจากสื่อออนไลน์ได้แก่ FB กับ IG สามารถ ทำนายความแปรปรวนของคะแนนความเป็นวัตถุนิยมได้ร้อยละ 23.9 (b = .223, β = .489, P < .01) และในเจนเนอเรชั่นวายจะทำนายความเป็นวัตถุนิยมได้ร้อยละ 22.9 (b = .196, β = .478, P < .01) 2. รูปร่างในอุดมคติซึ่งได้รับอิทธิพลจากสื่อออนไลน์ ได้แก่ FB และ IG ที่ส่งผลต่อการมีค่านิยมทางวัตถุ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในสองเจนเนอเรชั่นทั้งเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย (b = .027, SE = .051, Z = .523, P > .05)
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2014