Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนในตำบลเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 2) วิเคราะห์องค์ประกอบและคุณค่าของภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนในตำบลเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 3) วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์วัฒนธรรมในอนาคตของชุมชนในตำบลเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนในตำบลเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นชุมชนริมน้ำที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทยผสมกับมอญที่มีพัฒนาการ 3 ช่วง คือ ยุคเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานชุมชน (พ.ศ. 2423 – พ.ศ. 2480) เป็นยุคที่มีการขุดคลองเจ็ดริ้วเพื่อเชื่อมต่อกับคลองสายหลัก สภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานและการเกษตรกรรม เป็นรูปแบบของภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบ “ภูมิทัศน์นำวัฒนธรรม” ยุคเปลี่ยนผ่านรูปแบบเกษตรกรรม (พ.ศ. 2481 – พ.ศ.2521) เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เกิดการทำสวนยกร่องที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการจัดการน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ก่อให้เกิดรูปแบบประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นรูปแบบของภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบ “ลักษณะเด่นรวมกัน” และยุคเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางคมนาคม (พ.ศ.2522 – ปัจจุบัน) เป็นยุคที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงจากการตัดถนน มนุษย์เข้ามาจัดการสภาพแวดล้อมธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี แต่ยังคงรักษาคติความเชื่อและประเพณีที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชนมอญให้คงอยู่ต่อไป เป็นรูปแบบของภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบ “วัฒนธรรมนำภูมิทัศน์” ข้อเสนอแนะแนวทางการรักษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนในตำบลเจ็ดริ้ว ประกอบด้วยการกำหนดรูปแบบของสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบของชุมชนริมน้ำ จัดทำมาตรการในการอนุรักษ์ ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป