Abstract:
พระนามเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากชื่อของสามัญชน อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับปริบทสังคมวัฒนธรรมไทย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีทางภาษาในการขนานพระนามและการเฉลิมพระนามเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์ และศึกษาความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และวิวัฒนาการในการขนานพระนามและการเฉลิมพระนามเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อมูลที่ใช้ศึกษารวบรวมจากรายพระนามทางการของเจ้านายรวมทั้งสิ้น 1,932 พระนาม จากการศึกษาพบความรู้เกี่ยวแก่พระนามเจ้านายที่สำคัญมี 4 ประการ ประการแรก พระนามเจ้านายมี 2 ประเภท ได้แก่ พระนามเดิมเป็นพระนามที่ได้มาแต่ประสูติ และพระนามเมื่อได้รับการเฉลิมพระยศเพิ่มขึ้น ประการที่สอง พระนามมีองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนพระนามเป็นส่วนหลัก และส่วนสร้อยพระนามเป็น ส่วนเสริมสำหรับเจ้านายที่ทรงดำรงพระยศสูงและสำคัญ ประการที่สาม องค์ประกอบร่วมของพระนามมี 4 อย่าง ได้แก่ คำบอกชั้นยศ คำนำพระนาม คำบอกตำแหน่ง และนามราชสกุล องค์ประกอบร่วมเหล่านี้ใช้แสดง ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ และเชื้อสายของเจ้านายเป็นสำคัญ ประการที่สี่ ปัจจัยที่มีผลต่อการขนานพระนามและการเฉลิมพระนาม ได้แก่ สกุลยศ เพศ วันและเวลาประสูติ อิสริยศอิสริยศักดิ์ อาวุโส และสถานะทางศาสนา กลวิธีทางภาษาที่ใช้ในการขนานพระนามและการเฉลิมพระนามเจ้านายมีทั้งสิ้น 4 กลวิธี ได้แก่ การใช้คำศัพท์ การอ้างอิงนามบุคคลและนามเมือง การส่งสัมผัสคล้องจอง และการใช้รูปอักษร กลวิธีเหล่านี้ใช้แสดงสถานะและคุณลักษณะของเจ้านาย ความสัมพันธ์ของเจ้านายกับราชสกุล ความแตกต่างระหว่างเพศสภาวะ และ การอำนวยสิริมงคล พระนามเจ้านายสะท้อนความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่ ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดลำดับชั้นของบุคคลในสังคม สังคมแบบเครือญาติ สถานะและบทบาทของบุคคล ต่างเพศสภาวะ ความคิดความเชื่อทางศาสนา และลักษณะสำคัญของอาณาจักร พระนามเจ้านายมีวัฒนาการไปตามปริบทสังคมวัฒนธรรมไทยที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ การฟื้นฟูบ้านเมืองสมัยรัชกาลที่ 1 การแสดงสิทธิธรรม ทางการปกครองของพระมหากษัตริย์และการสืบราชสันตติวงศ์ การเข้ามาและอิทธิพลของชาติตะวันตก การสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองกับชนชั้นนำ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475