Abstract:
แนวชั้นหินคดโค้งเลย-เพชรบูรณ์ (Loei-Phetchabun fold belt) เป็นแนวของชั้นหินที่มีลักษณะ ธรณีวิทยาโครงสร้างที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกันในแต่ละส่วน เป็นผลจาก กระบวนการชนกันระหว่างแผ่นจุลทวีปไซบูมาสุ (Sibumasuterrane) และแผ่นจุลทวีปอินโดจีน (Indochina- terrane) การศึกษานี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาลักษณะและวิวัฒนาการธรณีวิทยาโครงสร้างของ แนวชั้นหินคดโค้งเลย-เพชรบูรณ์ ในพื้นที่ศึกษาบริเวณตอนกลางของจังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะทาง ธรณีวิทยาของพื้นที่ศึกษาประกอบไปด้วย หินตะกอนเนื้อเม็ดขนาดละเอียดและหินปูน มีสภาพแวดล้อม การสะสมตัวแบบทะเลน้ำตื้นยุคเพอร์เมียน จากการสำรวจภาคสนาม ประมวลผลในห้องปฏิบัติการและวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาค สรุปได้ว่า ลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้างของแนวชั้นหินคดโค้งเลย เป็นชั้นหินคดโค้งแบบไม่สมมาตร (asymmetric fold) มีระนาบแกน (axial plane) วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ขนานกับชั้นหิน มุมเอียงเทไปทางทิศตะวันตก ลักษณะเป็นประทุนคว่ำ (anticline) และประทุนหงาย (syncline) สลับกัน คล้ายลูกคลื่น มีแนวแตกหลัก 3 แนวและพบรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (thrust fault) โดยมีลำดับวิวัฒนาการการเกิดธรณีวิทยาโครงสร้างดังนี้ (1) การตกสะสมตัวของตะกอน (2) เกิดชั้นหินคดโค้งในทิศเหนือ-ใต้ ร่วมกับแนวแตกเรียบระนาบแกนใน ทิศเหนือ-ใต้และแนวแตกทิศตะวันออก-ตะวันตก เนื่องจากแรงบีบอัดในทิศตะวันออก-ตะวันตก (3) เกิด แนวแตกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ร่วมกับรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ- ตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแรงบีบอัดในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้