Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดการบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว 3) ศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคามของการบริหาสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และ4) พัฒนากลยุทธ์การบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน กลุ่มประชากร ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโดย UI Green Metric World University Ranking ปี 2015 จำนวน 19 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนี PNIModified และการวิเคราะห์เนื้อหาจากการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า 1) กรอบแนวคิดการบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ กระบวนการบริหารสถาบันอุดมศึกษา การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และการพัฒนากลยุทธ์ 2) สภาพปัจจุบันของการบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง และสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยสภาพที่พึงประสงค์สูงกว่าสภาพที่พึงประสงค์ทุกด้าน 3) จุดแข็ง ได้แก่ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการศึกษา ความยั่งยืนทางด้านโภชนาการ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อชุมชน จุดอ่อน ได้แก่ การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการของเสีย การจัดการน้ำ การสัญจร นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบบการจัดการและการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจริยธรรมการลงทุน ธรรมาภิบาลและการบริหารงาน โอกาส ได้แก่ ด้านสังคมและด้านเทคโนโลยี อุปสรรค ได้แก่ ด้านการเมืองและนโยบายของรัฐและด้านเศรษฐกิจ 4) กลยุทธ์การบริหารสถาบันอุดมศึกษาตามแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ชื่อชุดกลยุทธ์ "กลยุทธ์เสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 4.1) กลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน 4.2) กลยุทธ์การขับเคลื่อนการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว 4.3) กลยุทธ์การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน และ 4.4) กลยุทธ์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว