Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการฝึกแอโรบิคดานซ์แบบแรงกระแทกต่ำและแบบปลอดแรงกระแทกที่มีต่อสารชีวเคมีในเลือดของหญิงสูงอายุ กลุ่มตัวอย่างประชากรเป็นอาสาสมัครหญิงสูงอายุที่เป็นสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกิจกรรมของศูนย์ฯ เป็นประจำ และเคยผ่านการร่วมกิจกรรมออกกำลังกายแบบรำมวยจีนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวน 45 คน มีอายุระหว่าง 60-85 ปี ซึ่งทำการตรวจสารชีวเคมีในเลือดก่อนการทดลองแล้วใช้การสุ่มแบบกำหนดลงในสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ฝึกแอโรบิดดานซ์แบบแรงกระแทกต่ำ กลุ่มที่ 2 ฝึกแอโรบิคดานซ์แบบปลอดแรงกระแทก และกลุ่มที่ 3 ฝึกแอโรบิคดานซ์แบบผสมผสานระหว่างแรงกระแทกต่ำกับปลอดแรงกระแทก ฝึก 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ นำค่าทดสอบสารชีวเคมีในเลือดมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า "ที" (t-test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One- way Analysis of Variance) ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการวิจัยพบว่า 1. ค่าของกลูโคส ไตรกลีเซอร์ไรด์ โคเลสเตอรอล แอล-ดี-แอล และเอช-ดี-แอล ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มฝึกแอโรบิคดานซ์แบบแรงกระแทกต่ำไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2. ค่าของไตรกลีเซอร์ไรด์ ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มฝึกแอโรบิคดานซ์แบบปลอดแรงกระแทกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ .05 ส่วนกลูโคส โคเลสเตอรอล แอล-ดี-แอล (LDL) และเอช-ดี-แอล (HDL) ก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 3. ค่าของกลูโคส ไตรกลีเซอร์ไรด์ โคเลสเตอรอล และแอล-ดี-แอล ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มฝึกแอโรบิคดานซ์แบบผสมผสานระหว่างแรงกระแทกต่ำกับปลอดแรงกระแทกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ .05 ส่วน เอช-ดี-แอล ก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกันยอ่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 4. ผลของการฝึกแอโรบิคดานซ์แบบแรงกระแทกต่ำ แบบปลอดแรงกระแทกและแบบผสมผสานระหว่างแรงกระแทกต่ำกับปลอดแรงกระแทกที่มีต่อสารชีวเคมีในเลือดของหญิงสูงอายุไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05